บัญชีเดียวเข้าถึงทุนธพว.รับลูกมีข้อดีต่อเอสเอ็มอีมากกว่าเสีย

28 ก.พ. 2562 | 05:54 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีแนะเอสเอ็มอีควรเข้าสู่ระบบมาตรฐานบัญชีเดียว กรรมการผู้จัดการ ธพว. ชี้มีข้อดีมากกว่าเสีย ช่วยเอสเอ็มอีปลอดภัยและเข้าสู่แหล่งเงินได้ง่าย พร้อมเสนอสร้างไอดอลจูงใจบุคคลธรรมดาเข้าระบบ ขณะที่นักบัญชีเชื่อทำให้เอสเอ็มอีได้มองเห็นภาพรวมธุรกิจ และพร้อมเมื่อต้องการขยายธุรกิจ
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาการทำธุรกรรมทางการเงิน หรืออนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการจากบัญชีชุดเดียวที่ยื่นต่อสรรพากรเท่านั้น โดยเป็นแนวทางจากภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั่วไปและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอจดแจ้งบัญชีชุดเดียวต่อกรมสรรพากรเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการยกเว้นและลดอัตราภาษี

ทั้งนี้ กลุ่มที่ดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องการทำมาตรฐานบัญชีเดียวก็คือ เอสเอ็มอี ซึ่งงบทางการเงินมักจะเชื่อถือไม่ได้ โดยส่วนใหญ่จะแสดงรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ที่สำคัญต้องยอมรับว่าบางรายมีบัญชีเกิน 1 บัญชี เพราะฉะนั้นการถูกบังคับใช้ดังกล่าว จึงก่อให้เกิดปัญหาต่อเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมากในการที่จะปฏิบัติตาม

ต่อเรื่องนี้นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การนำระบบมาตรฐานบัญชีเดียวมาใช้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตนมองว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะการให้ลูกค้าเข้าสู่ระบบจะปลอดภัยสำหรับลูกค้าด้วย แต่ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดมากกว่าว่าการเข้าสู่ระบบจะถูกเรียกเก็บภาษี ซึ่งส่งผลทำให้กำไรลดน้อยลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับความจริงก่อนว่ากำไรมากหรือน้อยไม่ได้อยู่ที่สรรพากรเป็นผู้กำหนด

TP8-3448-A

“เห็นด้วยที่จะให้ใช้ระบบบัญชีเดียว เพราะถ้าไม่เริ่มวันนี้โอกาสจะเริ่มก็น่าจะอีกนาน เพราะในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นมีอะไรที่ดีขึ้น ทุกวันนี้เอสเอ็มอีจะต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจจริงๆ ขณะที่สถาบันการเงินเองก็จะลดความเสี่ยงลงไปได้ด้วย ข้อมูลในการตัดสินใจก็ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อก็ง่าย”

อย่างไรก็ดี จะสังเกตว่าหากเป็นนิติบุคคล จะมีการแบ่งแยกรายได้รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน ทุนของธุรกิจกับบุคคลธรรมดาออกจากกัน ไม่อย่างนั้นผู้ประกอบการก็จะไม่สามารถเรียนรู้ว่าตนเองเหลือเงินเท่าไหร่ ธุรกิจเหลือเงินเท่าไหร่ เพราะทุกอย่างจะถูกผสมรวมกันไปหมด ซึ่งเมื่อเป็นแบบนั้นก็เท่ากับว่าเป็นการใช้จ่ายแบบไม่มีวินัยทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ดีต่อการทำธุรกิจ

นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า การจะทำให้บุคคลธรรมดาเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวได้นั้น จะต้องใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจให้ได้เห็นว่าผู้ที่เข้าสู่ระบบแล้วได้ประโยชน์อย่างไร หรือเรียกว่ามีตัวอย่างให้ได้เห็นเป็นไอดอล โดยให้ผู้ที่เป็นไอดอลดังกล่าวได้ช่วยแนะนำกับผู้ประกอบการด้วยตนเอง เพราะหากเป็นรัฐบาล หรือหน่วยงานจากภาครัฐเข้าไปให้คำแนะนำมักจะไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรเองในปัจจุบันก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานให้เป็นในเชิงบริการ หรือให้คำแนะนำ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

“ปัจจุบันสถาบันการเงินขนาดใหญ่กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการบังคับใช้ระบบบัญชีเดียวแล้ว ซึ่งก็เท่ากับว่าจะไม่มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก แม้จะมีกระแสข่าวว่าธนาคารพาณิชย์จะเลื่อนการบังคับใช้ออกไป เพราะ ธพว. เป็นคู่ค้ากับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงเสมือนถูกบังคับให้ใช้โดยตรง ซึ่งในแง่ของความเป็นจริงแล้วหากผู้ประกอบการไม่เข้าสู่ระบบก็จะเข้าถึงแหล่งเงินได้ยาก โดยหากผู้ประกอบการขอสินเชื่อแล้วไม่ดำเนินการตามมาตรฐานบัญชี ธพว.รับมาเป็นลูกค้าเรตติ้งของธนาคารก็จะตกลงตามไปด้วย”

นางอัญชลี มณีท่าโพธิ์ ที่ปรึกษาวางระบบบัญชี-ภาษี -ธุรกิจ กล่าวให้ความเห็นว่าการที่เอสเอ็มอีเข้าสู่มาตฐานระบบบัญชีเดียว จะทำให้เอสเอ็มอีได้มองเห็นตนเอง และมองเห็นสถานการณ์ของธุรกิจ โดยจะรับรู้ได้ว่ามีต้นทุนขั้นต้นอยู่ที่เท่าไหร่ อัตราผลตอบแทนของกำไรเป็นอย่างไร หรือขาดทุนเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้นในยามที่ต้องการขยายธุรกิจ จากเดิมที่อาจจะมีการนำรายได้ของธุรกิจไปเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้อง และไม่ได้มีการบันทึก หรือทำเป็นหลายบัญชีซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใดกับตนเอง และธุรกิจ

หน้า 8  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,448 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว