'ซีพี' ผนึกทุนนอก! "เยอรมนี-จีน" ลุยอู่ตะเภา-นิคมฯ-อีอีซี

26 ก.พ. 2562 | 06:24 น.
260262-1244

'ซีพี' จับมือ 'ฟราพอร์ท' ทุนยักษ์เยอรมนี ประมูลอู่ตะเภา ลุยต่ออีอีซี รุกคอมเมอร์เชียลเกตเวย์ ปัดฝุ่นที่ดินระยอง 3 พันไร่ ดึงทุนจีนตั้งนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง 5.6 พันล้านบาท รับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

นอกจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่มซีพี มีแผนเข้าไปลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ ยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนยื่นประกวดราคาในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกองทัพเรือ (ทร.) และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นซองประกวดราคาได้ในวันที่ 21 มี.ค. นี้


เจริญขี่รถไฟ

กลุ่มซีพีย้ำ! ลุยไฮสปีด-อู่ตะเภา

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ด้วยความที่ใน TOR ประกวดราคาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นประกวดราคา ที่ต้องมีผู้บริหารสนามบินที่มีประสบการณ์บริหารสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน บริษัทจึงได้จับมือกับ บริษัท Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide (ฟราพอร์ท) ของประเทศเยอรมนี ในการยื่นประมูลในโครงการดังกล่าว

"ฟราพอร์ท" เป็นผู้บริหารท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต เป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป ทั้งฟราพอร์ทยังเข้าร่วมบริหารจัดการบริการภาคพื้นดินของท่าอากาศยานอีกหลายแห่งทั่วโลกผ่านทางบริษัทลูก เช่น บริษัท ไดอัล เดลลี อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ท ไพรเวท จำกัด (ฟราพอร์ทถือหุ้น 10%) บริหารจัดการท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานที ในอินเดีย, บริษัท นอร์ทเธิร์น แคปปิตอล เกตเวย์ฯ (35.5%) บริหารท่าอากาศยานพูลโคโว ในรัสเซีย และบริษัท ฟราพอร์ท บราซิล-ฟอร์ทาเลซาฯ (ถือหุ้น 100%) บริหารท่าอากาศยานนานาชาติ ฟินโต มาร์ติน-ฟอร์ทาเลซา ในบราซิล เป็นต้น บริษัทมีรายได้ 2,935 ล้านยูโร (ปี 2560) มีพนักงานทั่วโลก 20,673 คน

 

[caption id="attachment_394787" align="aligncenter" width="500"] 'ซีพี' ผนึกทุนนอก! "เยอรมนี-จีน" ลุยอู่ตะเภา-นิคมฯ-อีอีซี เพิ่มเพื่อน [/caption]

ในส่วนของกลุ่มพันธมิตรอื่น ก็ได้มีการเจรจากับบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ที่ประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในขณะนี้ มาร่วมกันยื่นประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาด้วย

"ทั้ง 2 โครงการ จัดว่ามีความสัมพันธ์และสอดคล้องกันในเรื่องของการขนส่งเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่ในอีอีซี ประกอบกับธุรกิจสนามบินก็มีการเติบโตที่ดี สอดรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน อีกทั้งในโครงการนี้ยังให้เครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถขยายธุรกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน รวมถึงพื้นที่ในส่วนของศูนย์ธุรกิจ หรือ คอมเมอร์เชียล เกตเวย์ ที่จัดว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่รวมอยู่ในการประมูลโครงการนี้ด้วย"


186629

ปัดฝุ่นที่ดินระยอง 3 พันไร่

นอกจากทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ในส่วนของ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.มาบข่า, บาบข่า พัฒนา อ.นิคมพัฒนา และ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยเป็นการร่วมทุนกับจีน มูลค่าการลงทุนกว่า 5.6 พันล้านบาท

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่ง ซี.พี.แลนด์ ซื้อมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่กล้าพัฒนา แต่เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีโครงการขยายระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่อีอีซี รวมถึงได้รับสิทธิ์การส่งเสริมพิเศษสำหรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เราจึงมองว่าถึงเวลาในการพัฒนาพื้นที่

ซี.พี.แลนด์ จึงได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่มณฑลกว่างซีของจีน ถือหุ้น 100% และมีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ มาลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ทุนจดทะเบียน 3 พันล้านบาท เพื่อรองรับการจัดตั้งโรงงานของกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทุนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ โดยผมต้องการจะผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ สามารถเปิดให้บริการได้สำเร็จภายใน 3 ปีนี้

 

[caption id="attachment_394788" align="aligncenter" width="503"] วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)[/caption]

ชี้ชะตา 5 มี.ค. อยู่หรือไป

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า มติของคณะกรรมการสรุปว่า เห็นควรแจ้งกลุ่มซีพีให้รับทราบผลการหารือร่วมในรอบแรก ว่า ไม่สามารถรับข้อเสนอของกลุ่มซีพีรอบแรกได้ เพราะขัดมติ ครม. และที่ RFP กำหนดไว้ โดยจะเชิญมาแจ้งผลในวันที่ 5 มี.ค. นี้ ว่า กลุ่มซีพียอมรับหรือไม่ หากยังมีประสงค์ในประเด็นเหล่านั้นต่ออีก ก็จะแจ้งผลในวันนั้นให้กลุ่มซีพีได้ทันที หากกลุ่มซีพีไม่มารับแจ้งผลก็จะพิจารณาว่าจะยุติหรือไม่

ประการหนึ่งนั้น หากกลุ่มซีพีไม่มา จะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรให้กลุ่มซีพีตอบรับอย่างเป็นทางการ หากเงื่อนไขเพิ่มเติม แต่ขัดมติ ครม. หรือ ทีโออาร์ ก็จะต้องพิจารณา ดังนั้น ในวันที่ 5 มี.ค. นี้ จะเห็นภาพชัดว่า จะเจรจากันต่อไปหรือยุติ มั่นใจว่าจะควบคุมการเจรจาได้ชัดเจนขึ้น ไม่ยืดเยื้อต่อไปอีก ทั้งนี้ กรอบอำนาจของคณะกรรมการได้มาตามมติ ครม. จึงต้องปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด

"ขั้นตอน RFP ให้บอกว่า เชิญรายต่อไปมาเจรจาซองที่ 4 ต่อไปถึงขั้นนี้แล้ว คงไม่มีใครถอนตัวกันง่าย ๆ เนื่องจากกลุ่มซีพีมีความตั้งใจสูงมาก ยกเว้น หุ้นส่วนจะถอดใจ เรื่องประเด็นบริหารความเสี่ยงยังกังวลของซีพีในประเด็นหลักเรื่องการเงิน หรือ ความคุ้มค่าด้านการลงทุน เช่นเดียวกับเรื่องขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปต้องมีเหตุอันสมควร ส่วนประเด็นอื่นนั้นยังเป็นเรื่องจ่ายเงินช้า จ่ายเงินก่อน อายุสัมปทาน เนื่องจากขัดมติ ครม. และ RFP ไม่เปิดช่องให้เจรจา"


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,447 วันที่ 24 - 27 ก.พ. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จับตา "หุ้นส่วน" กลุ่มซีพีถอดใจ! สหภาพ รฟท. เร่งชำแหละ "รถไฟ 3 สนามบิน"
'ซีพี' บนทาง 2 แพร่ง!!

เพิ่มเพื่อน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-8