ผอ.กทท.คนใหม่ เร่งเดินหน้า "แหลมฉบัง เฟส 3"

25 ก.พ. 2562 | 12:10 น.
บอร์ด กทท. มอบ 5 ภารกิจ ผอ.กทท.คนใหม่ รับไปดำเนินการ ด้าน 'กมลศักดิ์' ยัน! เดินหน้าแหลมฉบัง เฟส 3 ขยายความจุรองรับสินค้า 200% แตะ 20 ล้านทีอียู/ปี ตั้งเป้าเป็นเกทเวย์ขนส่งทางน้ำอาเซียน-ติดท็อป 20 ของโลก พร้อมเล็งชงบอร์ด กทท. เคาะขึ้นค่าเช่าที่อยู่อาศัยย่านคลองเตย 20% จากที่บอร์ดเดิมให้ปรับขึ้น 100%

D17EB3FC-4874-4E0C-984C-AFD4CAE0517E
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังลงนามในสัญญาจ้างผู้อำนวยการ กทท. คนใหม่ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร เป็นผู้อำนวยการ กทท. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ซึ่งนับเป็นผู้อำนวยการ กทท. คนที่ 18 และเป็นคนในที่มาจากการคัดสรรตามขั้นตอนนั้น ได้มอบนโยบาย 5 ข้อ ให้รับไปดำเนินการ นั่นคือ 1.การขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ให้เป็นท่าเรือรองรับการเติบโตของประเทศและภูมิภาค พร้อมเชื่อมโยงการขนส่งให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของประเทศ 2.ให้ กทท. เป็นกลไกของรัฐในการบริการระบบขนส่ง ซึ่งจะทำให้โหมดการขนส่งทางน้ำมีต้นทุนต่ำ ลดปัญหาการขนส่งและลดต้นทุนการขนส่งของประเทศในภาพรวม รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบราง 3.สร้างความสะดวกและการบริการในระดับมาตรฐานสากลแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจของ กทท. โดยมีการส่งเสริมการนำระบบไอทีทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 4.ส่งเสริมให้มีไอซีดีระบบรางและโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพื่อความรวดเร็วในการขนส่ง โดยอาจพิจารณาความเหมาะสมระยะทางบริเวณในรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตรโดยรอบ กทม. และ 5.การพัฒนาศักยภาพท่าเรือแหลมฉบังให้อยู่ในอันดับที่ 20 ของท่าเรือโลก


E636743D-C5F9-4480-96CB-26291ADCB7BD

ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศ (กทท.) กล่าวว่า ภารกิจที่ตนจะเร่งขับเคลื่อนหลังการรับตำแหน่งใหม่ คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเกทเวย์การขนส่งสินค้าทางน้ำของเอเซีย เพิ่มปริมาณการรองรับสินค้ามากกว่าปัจจุบัน 100% หรืออยู่ที่ราว 20 ล้านTEU/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 ล้านTEU/ปี สามารถรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปได้อีก 20 ปี โดยจะเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 28 มี.ค.นี้ และมีกำหนดปิดรับซองในวันที่ 29 มี.ค. หลังจากนั้นในช่วงบ่าย คณะกรรมการคัดเลือกจะทำการเปิดพิจารณาซองแรก คือ คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลทันที ก่อนจะทยอยเปิดซองอื่น เพื่อคัดเลือกเอกชนต่อไป นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ที่มีปริมาณตู้สินค้าผ่านเข้ามามากที่สุด


8C98B54E-C70E-45F7-95AF-832420C02633

ร.ท.กมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ท่าเรือนั้น ต้องการผลักดันให้ใช้นโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม ที่เน้นเชื่อมต่อการขนส่งเพื่อลดภาระและการใช้พื้นที่หน้าท่าเรือ โดยจะส่งเสริมให้พัฒนาสถานีบรรจุสินค้า ลานเทกองสินค้า (CY) สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) และท่าเรือบก (Dry Port) ตามแนวเส้นทางรถไฟและตามแนวชายแดน รวมถึงด่านการค้าชายแดน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนถ่ายสินค้าและจัดการเรื่องศุลกากรตั้งแต่ต้นทาง ก่อนส่งผ่านรถไฟส่งต่อไปยังท่าเรือขนาดใหญ่ เพื่อลดภาระงานภายในท่าเรือและลดปริมาณรถบรรทุกวิ่งเข้าเขตเมือง รวมถึงเรื่องรถติดในแหลมฉบัง โดยเฉพาะภาคตะวันออก-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การพัฒนาโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือ (SRTO) จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำให้เสร็จ นั่นคือ การจ้างเอกชนมาบริหารจัดการ

ในส่วนด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ตั้งเป้าจะสร้างรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท จากกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะมีการพัฒนาภายในท่าเรือคลองเตยให้เป็นเมืองท่าเรือคล้ายท่าเรือปูซานของเกาหลีใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างเอกชนศึกษา คาดว่าจะสามารถตั้งบริษัทลูกได้ภายในปี 2562 ขณะนี้มีพื้นที่พร้อมให้เอกชนเข้าลงทุนแล้ว 1 แปลง จำนวน 17 ไร่ โซนด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ กทท.

ร.ท.กมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทบทวนมติการปรับขึ้นค่าเช่าพื้นที่รอบท่าเรือคลองเตย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย โดยอัตราเดิมนั้น กำหนดให้ปรับขึ้น 100% ดังนั้น ตนจึงมองว่า อาจเป็นภาระที่หนักเกินไปของประชาชน จึงเสนอขอปรับอัตราค่าเช่าจากเดิมเพียงแค่ 20% ขณะนี้ได้ตั้งทีมขึ้นมาดูความเหมาะสมแล้ว แต่ยังไม่สามารถเสนอแนวทางเข้าสู่การประชุมบอร์ดในวันที่ 28 ก.พ. นี้ได้

595959859