'พลังงาน' เล็งเปิดประมูล "ปิโตรเลียม" รอบใหม่ มิ.ย. นี้ หลังลงนาม "เอราวัณ-บงกช"

25 ก.พ. 2562 | 07:07 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เร่งดำเนินการศึกษาเปิดประมูลแปลงปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่ ในรูปแบบระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนผู้เสนอรับสิทธิ์และสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ภายในเดือน มิ.ย. นี้

"การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นี้ จะใช้เกณฑ์เดียวกันการเปิดประมูลแปลงเอราวัณและบงกช ซึ่งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งดำเนินการ คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนได้ภายในเดือน มิ.ย. นี้ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจี" นายศิริ กล่าว

 

[caption id="attachment_394316" align="aligncenter" width="503"] นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์[/caption]

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ก.พ. 2562 กระทรวงพลังงานได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด และสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย หมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

โดยการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยทั้ง 2 ฉบับนี้ สืบเนื่องจากตลอดระยะเวลาเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชในอ่าวไทย ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานมาตั้งแต่เริ่มมีการผลิตในปี 2524 ซึ่งสัญญาสัมปทานสำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของทั้ง 2 แหล่ง กำลังจะสิ้นอายุลงในปี 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดำเนินการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทั้ง 2 แปลง เพื่อให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณมากพอตามความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ


333507

ภายหลังจากลงนามสัญญาในครั้งนี้ ทางผู้รับสัมปทานรายใหม่จะต้องส่งแผนดำเนินการปีแรกมายังกรมฯ รวมทั้งต้องสามารถรักษาระดับกำลังการผลิตก๊าซในแปลงเอราวัณและบงกชตามข้อกำหนด ได้แก่ แปลงเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลงบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติคงที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ต่ำกว่าราคาก๊าซในแหล่งเอราวัณ ปัจจุบันราคา 165 บาทต่อล้านบีทียู และแหล่งบงกชราคา 214.26 บาทต่อล้านบีทียู เทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ 5.5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี จะส่งผลประโยชน์ไปยังประชาชน แบ่งเป็น แอลพีจีมีเงินเข้ากองทุน 1 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็น 1.5 แสนล้านบาท, ราคาเอ็นจีวีลดลง 0.50-1 บาทต่อกิโลกรัม มูลค่า 1 แสนล้านบาท, ต้นทุนปิโตรเคมีที่ลดลงคิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท และอีก 2 แสนล้านบาท เป็นต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าที่ลดลง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-8