'ซีพี' บนทาง 2 แพร่ง!!

24 ก.พ. 2562 | 10:06 น.
การเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มี นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธาน กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่มซีพี ผู้เสนอราคาตํ่าสุดในการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เดินมาถึงจุดชี้ขาดว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะเห็นชอบให้กลุ่มซีพีเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นชอบข้อเสนอของกลุ่มซีพีและประกาศให้ซีพีเป็นผู้ชนะการประมูลแล้ว ทางกลุ่มซีพีไม่ยอมรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการเจรจาไม่รับข้อเสนอของกลุ่มซีพีหลายข้อ ทำให้กลุ่มซีพีไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของคณะอนุกรรมการคัดเลือกในหลายประเด็น ทางกลุ่มซีพีจึงต้องหารือกับพันธมิตรว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ หลังจากนั้นกลุ่ม ซีพี และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องกลับมาหารือกันอีกครั้ง ว่า จะเดินหน้าโครงการนี้ หรือ จะยกเลิกการเจรจา สอดคล้องกับนายวรวุฒิที่ระบุก่อนหน้านี้ ว่า หลังจากคณะกรรมการพิจารณาผลการเจรจาได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะเชิญทางกลุ่มซีพีมาเจรจาอีกรอบ ว่า จะเดินหน้าต่อ หรือว่าจะจบกันแค่นี้ โดยทั้ง 2 ฝ่าย ต้องมีความเห็นตรงกันด้วย ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ว่า การเจรจาจะได้ข้อสรุปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากเงื่อนไขทีโออาร์ หมวดที่ 7 พบว่า การประมูลโครงการนี้ กำหนดให้ 1 ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซอง พร้อมกับการยื่นซองเอกสารข้อเสนอ มูลค่า 2 พันล้านบาท พร้อมระบุในข้อ 56.3 ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งไม่ไปทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด จะถูกริบหลักประกันซอง หรือ ถูกเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซองทันที และอาจพิจารณาให้ชดใช้ความเสียหายอื่น (ถ้ามี) รวมทั้งอาจพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ การคืนหลักประกันซองไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะคืนให้โดยไม่มีดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ในข้อ 56.5 ยังระบุเกี่ยวกับหลักประกันซองจะถูกริบได้ ในกรณีดังนี้ 1.ผู้ยื่นข้อเสนอขอถอนเอกสารข้อเสนอของตน ในช่วงเวลาที่เอกสารข้อเสนอยังไม่หมดอายุ หรือ 2.ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยอมรับการแก้ไขข้อมูลที่เสนอไปตามที่ระบุไว้ในข้อ 4.การแก้ไขข้อผิดพลาด หรือ 3.ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือก แต่ไม่ดำเนินการ ดังนี้ (ก) ลงนามสัญญาร่วมลงทุน หรือ (ข) ยื่นหลักประกันสัญญาในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนเป็นมูลค่าเท่ากับ 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว