ชดเชยเกษียณ 400 วัน ฉุดกำไร บจ. ร่วง 5%

23 ก.พ. 2562 | 23:30 น.
บล.กสิกรไทยฯ ประเมินผลกระทบปรับเพิ่มสิทธิชดเชยเป็น 400 วัน ให้กับ พนง.เกษียณ ที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ฉุดกำไร บจ. ปี 2562 ลดลง 5% จากการตั้งสำรองเพิ่ม 30% ผ่านงบกำไรขาดทุน บจ.ขนาดใหญ่ THAI กระทบมากสุด ฉุดกำไร 61% มองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้แตะ 1750 จุด แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ

จากผลของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่ได้เพิ่มสิทธิค่าชดเชยเป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน ให้กับลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและเกษียณอายุ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ในปี 2562 มีลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปี จำนวน 3 แสนคน หรือเป็น 3% ของแรงงานในระบบ

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กฎหมายแรงงานที่ปรับเพิ่มผลประโยชน์หลังเกษียณเป็น 400 วัน สำหรับพนักงานเกษียณที่มีอายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ทำให้บริษัทต้องสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับรายการดังกล่าว ในเชิงมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ในสัดส่วนราว ๆ 30% ซึ่งสอดคล้องกับการปรับเพิ่มผลประโยชน์จาก 300 วัน เป็น 400 วัน (เพิ่มขึ้นราว 33%) และจากการประเมิน หากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องทำการตั้งสำรองในสัดส่วน 30% ของรายจ่ายผลประโยชน์หลังเกษียณ จะกระทบต่อกำไรตลาดปี 2562 ในกรอบ 5%


MP17-3447-A

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงอาจออกมาตํ่ากว่าระดับดังกล่าว หากบริษัทเลือกหักตั้งสำรองที่สูงขึ้นจากส่วนผู้ถือหุ้นโดยตรง ในกรณีนี้จะไม่กระทบการรายงานกำไรของบริษัท

"บลูมเบิร์กคาดการณ์กำไรตลาดปี 2562 โต 4% และหาก บจ. พร้อมใจตั้งสำรองส่วนนี้ผ่านงบกำไรขาดทุนกันหมด จะทำให้กำไรปี 2562 โตในอัตราทรงตัวจากปี 2561 แต่ยังมีปัจจัยหนุนกำไรในปีนี้ มาจากราคานํ้ามันที่พลิกกลับมาดีขึ้น จากราคานํ้ามันดูไบที่ลงไปแตะ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อปีที่แล้ว เด้งกลับมายืนที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และกลุ่มโรงกลั่น ซึ่งเคยเป็นตัวฉุดผลประกอบการในไตรมาส 4/2561 แต่คาดว่าจะดีขึ้นในไตรมาส 1/2562"

ทั้งนี้ หากพิเคราะห์บริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานอายุงานมาก อาทิ บมจ.การบินไทย (THAI) การตั้งสำรอง 2,494 ล้านบาท จะกระทบต่อกำไรมากถึง 61% จากฐานกำไรของ THAI ที่ตํ่า, บมจ.ปตท. (PTT) ตั้งสำรองราว 7,771 ล้านบาท กระทบต่อกำไร 5.5% (จากกำไรปกติราว 1.4 แสนล้านบาท) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ อาหาร (CPF) ตั้งสำรองราว 2,000 ล้านบาท กระทบกำไร 12.5%

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ตั้งสำรอง 1,500 ล้านบาท กระทบต่อกำไร 3.6%, ธนาคารกรุงไทย (KTB) ตั้งสำรอง 3,000 ล้านบาท กระทบกำไรราว 8% ส่วนบริษัทที่แทบไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพราะใช้ซับคอนแทร็กต์ หรือ กลุ่มรถไฟฟ้า ที่ใช้คนน้อย ยกเว้น บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) ที่ฐานกำไรตํ่า จะกระทบกำไรราว 13.8% จากการตั้งสำรอง 21 ล้านบาท โดยคาดว่า บริษัทที่เหลือน่าจะตั้งสำรองครบภายในครึ่งแรกของปีนี้

นอกจากนี้ มี 3 ธนาคารพาณิชย์ ที่ตั้งสำรองครบแล้ว เมื่อไตรมาส 4/2561 คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ตั้งสำรอง 2,500 ล้านบาท จากรายจ่ายในส่วนนี้ 8,364 ล้านบาท, ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) 158 ล้านบาท และบริษัทบัตรกรุงไทยฯ (KTC) 96 ล้านบาท

นายภาสกร กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาส 4/2561 ที่ออกมา ว่า แนวโน้มค่อนข้างผิดหวัง โดย บจ. ที่บริษัทดูแล 115 บริษัท ได้รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว 28 บริษัท (คิดเป็น 40% ของกำไรทั้งหมด) ตํ่ากว่าที่ บล.กสิกรไทยฯ คาด 11% และตํ่ากว่าที่ตลาดคาด 18% ปัจจัยฉุดส่วนหนึ่งก็มาจากเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนการเกษียณอายุที่เพิ่มนั่นเอง และหากบริษัทที่เหลือยังรายงานกำไรตํ่ากว่าคาด ก็จะส่งผลให้ SET Index พักตัวสักระยะ

บล.กสิกรไทยฯ ยังคงมุมมอง "บวก" ต่อตลาดหุ้น ด้วยเป้าหมายดัชนี SET Index ล่วงหน้า 12 เดือน ที่ 1750 จุด เชื่อว่า น่ามีโอกาสที่ครึ่งแรกปีนี้จะขึ้นสู่ระดับ 1750 จุดก่อน (คิดเป็นผลตอบแทนทั้งหมดที่ 10%) ปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง และแรงกดดันต่อเศรษฐกิจมหภาคผ่อนคลายลง

หุ้นที่แนะนำ กลุ่มพาณิชย์ ได้แก่ CPALL และ BJC, กลุ่มสนามบินเลือก AOT จากอานิสงส์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่พลิกมาเติบโตตั้งแต่ปลายปี 2561, กลุ่มสาธารณูปโภคแนะหุ้น BGRIM และ BPP รวมถึงกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและนิคมอุตสาหกรรม เลือก STEC  AMATA และกลุ่มสินค้าเกษตรเลือก CPF จากราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น ราคาวัตถุดิบถัวเฉลี่ยลดลง

หน้า 17-18  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,447  วันที่ 24-27  กุมภาพันธ์ 2562

595959859