แผนพัฒนานครเซี่ยงไฮ้เดินหน้าสู่เป้าหมาย ศูนย์กลางมหาอำนาจทางศก.ระดับโลก

23 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
สภาผู้แทนประชาชนนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Municipal People’s Congress) รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2558 และแถลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 ซึ่งเริ่มต้นในปี 2559 นี้ จึงเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจไทยที่สนใจลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้ใช้ประกอบการวางแผนรุกตลาดอย่างแยบยล

ในปี 2558 นครเซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างน่าทึ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เช่น สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ถึง 2.5 ล้านล้านหยวน (13.2 ล้านล้านบาท) เพิ่มจากปี 2557 ถึง 6.9% เห็นตัวเลขนี้แล้วก็เชื่อว่า ไทยซึ่งมีความชำนาญในธุรกิจบริการหลายประเภท น่าจะมีโอกาสทำธุรกิจใน นครเซี่ยงไฮ้ได้ดี เพราะรายได้จากภาคบริการมีสัดส่วนสูงมากถึง 68% ของ GDP และ 30.3% ของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในปีนี้และปีต่อไป นักธุรกิจต่างชาติน่าจะทำธุรกิจในนครเซี่ยงไฮ้ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะรัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้มีมาตรการอำนวยความสะดวก

สำหรับการประกอบธุรกิจ อาทิ การผ่อนปรนด้านภาษีสำหรับ SMEs และการจดทะเบียนธุรกิจแบบ Three-In-One (คือ บูรณาการการขอใบอนุญาตจัดตั้งบริษัท หนังสือรับรองรหัสองค์กร และหนังสือรับรองการลงทะเบียนผู้เสียภาษี) ทำให้มีบริษัทจดทะเบียนใหม่ถึง 245,000 แห่ง อีกทั้งมีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของธุรกิจต่างชาติ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนถึง 535 แห่ง

ในเขตทดลองการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Free-Trade Zone: SFTZ) รัฐบาลได้เปิดกว้างทางการเงินและขยายการใช้ระบบ "Single Window" ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานนครเซี่ยงไฮ้ 3 แห่ง คือ สำนักงานตรวจสอบ ควบคุม และกักกันโรค (CIQ) กรมศุลกากร และสำนักงานตรวจ คนเข้าเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและลดระยะเวลาตรวจสอบมาตรฐานสินค้าสำหรับบริษัทที่เข้ามาลงทุน

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนครเซี่ยงไฮ้ 5 ปี ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2559 – 2563) มีเป้าหมายหลักดังนี้

1.บรรลุแผนการพัฒนานครเซี่ยงไฮ้ให้เป็น 4 ศูนย์กลางระดับโลกในปี พ.ศ. 2563 ได้แก่ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางการเงิน และศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ และพัฒนาเป็นมหานครนานาชาติที่ทันสมัยตามแนวทางสังคมนิยม

2. เร่งให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ให้สูงกว่า 6.5% ต่อปี และเพิ่มงบประมาณ R&D ให้สูงกว่า 3.5% ของ GDP

3. เสริมสร้าง Soft Power ด้านวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ โดยพัฒนานครเซี่ยงไฮ้ให้เป็นมหานครนานาชาติทางวัฒนธรรมซึ่งมีความเปิดกว้างและทุกคนสามารถมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

4. ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยลดค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ PM 2.5 ในอากาศเหลือ 42 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 53 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และขจัดน้ำเสีย
ในปี 2559 นี้ รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ระหว่าง 6.5 – 7% และมุ่งพัฒนา SFTZ ให้เป็นเขตการค้าเสรีที่มีระดับการเปิดเสรีสูงสุด โดยใช้นวัตกรรมการจัดการแบบ Negative List และ Pre-Establishment National Treatment (โดยบริษัทต่างชาติได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าบริษัทสัญชาติจีน) เพิ่มหน่วยงานใน "Single Window" เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนยิ่งขึ้น อนุญาตให้แลกเปลี่ยนเงินหยวน และขยายการใช้บัญชี Free Trade Account ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจกู้ยืมเงินหยวนจากสถาบันการเงินในอัตราต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้ยืมเงินหยวนภายในจีน อีกทั้งให้ความสำคัญกับการปกป้องนักลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ยังเน้นการพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม เช่น เกมแอนิเมชันและการออกแบบที่สร้างสรรค์ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการประชาชน ตลอดจนเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองและควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร

เห็นได้ชัดว่า ข้อได้เปรียบของนครเซี่ยงไฮ้คือเป็นเมืองนำร่องในการปฏิรูปที่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจมาลงทุน แต่ต้องแลกกับค่าครองชีพและต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง โดยภาคเอกชนไทยอาจต้องปรับตัวโดยใช้นวัตกรรมมาช่วยสร้างสินค้าและบริการที่เพิ่มมูลค่า เพื่อตอบโจทย์นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งจัดเป็นตลาดระดับพรีเมียมของจีน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและช่องทางการค้า-การลงทุนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน http://www.thaibizchina.com หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559