มิตซูบิชิ"ไทรทัน ใหม่"ภารกิจใหญ่ทวงอันดับ3"ฟอร์ด เรนเจอร์"

23 ก.พ. 2562 | 05:33 น.
ตลาดปิกอัพกับการแข่งขันในกลุ่มดิวิชัน 1 ต้องปล่อยให้ “โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่” และ “อีซูซุ ดีแมคซ์” ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเกิน 67% สู้กันไปครับ อย่างปีที่แล้วยอดขายห่างกันแค่กว่าพันคัน หรือ 150,928 คัน กับ 149,578 คันตามลำดับ

ส่วนดิวิชัน2 “ฟอร์ด เรนเจอร์” ยังมาแรงด้วยยอดขายกว่า 5.5 หมื่นคัน ยึดอันดับ 3 เหนียวแน่น ขณะที่ 2 ค่ายใหญ่จากญี่ปุ่น “มิตซูบิชิ ไทรทัน” ปีที่แล้วขายไป 3.9 หมื่นคัน และ “นิสสัน นาวารา” 2.5 หมื่นคัน

Pack shot Triton_0012

ปีที่แล้วฟอร์ดได้กระแสปิกอัพไฮโซ “เรนเจอร์ แร็พเตอร์” ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น หรือเรียกง่ายๆว่า โปรโมตตัวแพงให้ดูอลังการ แต่จริงๆหวังขายเรนเจอร์ตัวถูก ซึ่งมาพร้อมการไมเนอร์เชนจ์เช่นกัน (แต่ตัวถูกของฟอร์ดก็หมายถึงรุ่นย่อยราคา 7-8 แสนบาท เช่นเดียวกับตัวไวลด์แทร็กที่ราคาเกิน 1 ล้านบาท)

ปีนี้ มิตซูบิชิ หมายมั่นปั้นมือกลับมาทวงอันดับ3 คืนมาจากค่ายอเมริกันให้ได้ ด้วยโปรดักต์ที่มีความสดใหม่ ปรับเปลี่ยนไปอย่างไฉไลทั้งการออกแบบ สมรรถนะการขับขี่ จากช่วงล่าง และเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่

Pack shot Triton_0013

ไทรทัน ไมเนอร์เชนจ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายปีที่แล้ว แน่นอนว่าไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้เห็นได้ทำตลาด เพราะเป็นฐานการผลิตใหญ่ จากนั้นจะทยอยส่งออกไปกว่า 150 ประเทศทั่วโลกในชื่อ “แอล200”

ตอนนี้ไทรทันมี 19 รุ่นย่อย ในจำนวนนี้เป็นรุ่นแบบยกสูงขับเคลื่อน 2 ล้อและ 4 ล้อ 15 รุ่น (ภายใต้ตัวถังตอนเดียว ตอนครึ่งและ 2 ตอน) ซึ่งเหล่านี้ยกหน้าใหม่ ปรับเปลี่ยนสเปก ราคาขยับประมาณ 2.5-4 หมื่นบาทแล้วแต่รุ่น

ผมเพิ่งขึ้นไปเชียงใหม่ลองขับ ไทรทัน รุ่นท็อป ตัวถังดับเบิลแค็บ 2.4 GT เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด (เดิม 5 สปีด) ราคา 1.099 ล้านบาท (เชื่อว่าจะมีรุ่นแต่งพิเศษแบบ “แอท ลีท” ขายราคาสูงกว่านี้ทำตลาดในอนาคต)

ส่วนตัวผมชื่นชมในความกล้าของมิตซูบิชิในการตวัดเส้นสายการออกแบบปิกอัพ คราวนี้ยกระดับไปสู่เอสยูวีเต็มตัว มองด้านหน้าไกลๆ อาจจะแยกไม่ออกว่านี่คือไทรทัน หรือ ปาเจโร สปอร์ต ซึ่งภาษาการออกแบบสมัยใหม่ของมิตซูบิชิยุคนี้เรียกว่า “Dynamic Shield” (เอ็กซ์แพนเดอร์ ก็สไตล์นี้)

...มันเท่นะครับ ขับปิกอัพแต่ทรงไม่เหมือนปิกอัพ

Interior Design_0003 Interior Design_0010 Interior Design_0011

ไทรทัน แบบบิ๊กไมเนอร์เชนจ์รุ่นนี้ มาพร้อมสโลแกนการขายเท่ๆว่า “แกร่ง ลุยทุกอุปสรรค” เป็นการสื่อสารถึงจุดเด่นของปิกอัพทั่วๆไปว่าต้องถึงทนสมบุกสมบัน แต่ในอีกด้านหนึ่งของการพัฒนา ในกลุ่มยกสูงทั้ง 15 รุ่นย่อยนี้ มิตซูบิชิปรับช่วงล่างใหม่ให้ลดความกระด้างลงอีกด้วย

ทั้งเปลี่ยนโช้กอัพใหญ่ขึ้นจากขนาด 42 มม. เป็น 45 มม. ปรับค่า K ของแหนบ คือจำนวนชั้นของแหนบเท่าเดิมแต่ตัวบนสุดจะเป็นแบบนุ่ม (แหนบเหนือเพลา) ขณะที่ล้ออัลลอยขยับจาก 17 นิ้วเป็น 18 นิ้ว ประกบยางไฮเวย์เทอร์เรน บริดจสโตน ดูเลอร์ 265/60 R18 และระยะตํ่าสุดจากพื้น(Ground Clearance) สูงขึ้นจาก 205 มม.เป็น 220 มม.

ในตำแหน่งผู้ขับรับรู้ได้จริงว่า รถเก็บอาการสะท้านสะเทือนจากพื้นถนนได้ดีขึ้น แม้ไม่นุ่มเทียบเท่าเอสยูวีหรือปาเจโร สปอร์ต แต่ควบคุมจังหวะยุบยืดของตัวถังได้ดี ช่วงขับเข้าโค้งแรงๆพบว่าอาการยวบโยนน้อย(การทดสอบไม่ได้บรรทุกของท้ายกระบะ) ในภาพรวมให้ความมั่นใจพอสมควร

Interior Design_0021 Interior Design_0022 Interior Design_0023

ส่วนการนั่งเป็นผู้โดยสารแถวสอง รับรู้ถึงความกระเด้งกระดอนมากกว่าเบาะคู่หน้า แต่ตัวเบาะออกแบบมาให้นั่งสบายและมีพื้นที่กว้างขวาง ผมยังชอบแนวคิดการเพิ่มช่องแอร์ด้านหลัง (จริงๆเป็นช่องพัดลมที่ดึงความเย็นมาจากโซนหน้า) และวางเอาไว้บนหลังคา แยกซ้ายขวา 2 ฝั่ง พร้อมแผ่นปรับทิศทางลมว่าจะให้ ลงหัว เลยหัว หรือลงที่ต้นขา

ขณะที่คอนโซลกลาง(ที่โตโยต้า รีโว่ กับนิสสัน นาวารา เจาะช่องแอร์เอาไว้ตรงนี้) ของไทรทัน ใหม่ ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ด้วยการปรับเป็นช่อง USB มีให้เสียบ 2 ตำแหน่ง พร้อมเจาะช่องใหญ่ๆ เผื่อใครจะวางของหรือเสียบชาร์จสมาร์ทโฟนแล้ววางในช่องนี้ได้เลย

ถือว่าสะดวกสบายใช้งานได้จริงครับ ทั้งช่องพัดลมแอร์ด้านบน(ไม่มีคอยล์เย็น) และที่ชาร์จ USB สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง

ด้านสมรรถนะจากเครื่องยนต์ดีเซลรหัส 4N15 บล็อก 4 สูบ MIVEC VG Turbo ให้กำลังสูงสุด 181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 430 นิวตัน-เมตรที่ 2,500 รอบต่อนาที ไม่ได้ปรับแต่งอะไร แต่เกียร์อัตโนมัติเปลี่ยนจาก 5 เป็น 6 สปีดใหม่ ซึ่งข่าวลือตอนแรกๆก่อนการเปิดตัว “ไทรทัน ไมเนอร์เชนจ์” ว่าจะขยับไปถึง 8 สปีด ลูกเดียวกับ “ปาเจโร สปอร์ต” ด้วยซํ้า แต่สุดท้ายก็เป็น 6 สปีด

Pack shot Triton_0023 Pack shot Triton_0035

ส่วนหนึ่งคงเป็นเรื่องต้นทุนละครับ เพราะถึงอย่างไรซัพพลายเออร์ (เกียร์ของ Aisin) เขาต้องตั้งราคาตัว 8 สปีดให้สูงกว่า 6 สปีด หรือมิตซูบิชิอาจมองว่าระบบส่งกำลังชุดนี้ เหมาะสมกับรีดเร้นเข่นแรงบิดสำหรับการเป็นปิกอัพแล้วก็ได้

เกียร์ชุดนี้ช่วยให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ของไทรทันรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ตัวถังดับเบิลแค็บดีขึ้นเสี้ยววินาที จาก 13.1 เป็น 13 วินาที(ข้อมูลมิตซูบิชิ มอเตอร์ส) ส่วนการขับทางไกลยังช่วยลดรอบเครื่องยนต์ได้พอสมควร โดยเกียร์ 6 ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. เห็นรอบประมาณ 1,700 ส่วน 120 กม./ชม.อยู่ระดับ 2,000

เครื่องยนต์ 4 สูบบล็อกเล็ก แต่รีดม้าได้ถึง 181 ตัว และใช้เกียร์ 6 สปีดมาช่วยส่งกำลัง ในรุ่นที่ผมขับการตอบสนองไหลรื่นพละกำลังมาดีในรอบเครื่องยนต์ 2,500-3,500 ที่สำคัญการทดสอบทริปนี้ขับขึ้นดอยอินทนนท์ ทั้งเครื่องยนต์และเกียร์ประสานการทำงานได้ดี ไต่ขึ้นทางชันสบายๆแบบไม่เครียด ส่วนพื้นราบวิ่งทางตรงความเร็ว 80-120 กม./ชม. รถพุ่งทะยานใช้ได้

Interior Design_0025 Interior Design_0026 Interior Design_0027

จุดเด่นของ มิตซูบิชิ ไทรทัน รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อคือการยกชุด Super Select 4 เจเนอเรชันที่ 2 มาจากปาเจโร สปอร์ต พร้อมดิฟล็อกเฟืองท้าย เรียกว่าได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อขั้นเทพชุดนี้มา ไทรทันยิ่งเหมือนเสือติดปีก ขับมั่นใจพร้อมลุยทั้งทางดำ ทางฝุ่น หรือออฟโรดหนักๆครับ

รวบรัดตัดความ...ปกติในอายุโมเดลที่ยาวนานของปิกอัพ บริษัทผู้ผลิตเขาจะปรับเปลี่ยนสเปกเรื่อยๆ เพื่อความลงตัวสูงสุดดังนั้นเราจึงเห็นว่าช่วงปลายๆของการทำตลาดรถจะลงตัวแบบเนียนเฉียบขาดขณะที่การบิ๊กไมเนอร์เชนจ์ของไทรทันครั้งนี้พัฒนา
ทั้งสมรรถนะการขับขี่ เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ใช้งานได้ดี พร้อมระบบความปลอดภัยขั้นสูง กับการขยับราคาขึ้น 25,000-40,000 บาท มิตซูบิชิได้ยกระดับปิกอัพ “ไทรทัน” ให้มาตรฐานสูงขึ้นไปอีกขั้นด้วยครับ

โดย กรกิต กสิคุณ

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,447 วันที่  24 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

595959859