ค่ายรถ-ซัพพลายเออร์ มึนนโยบายหว่านแหอุตฯยานยนต์

25 ก.พ. 2562 | 05:04 น.
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์-ชิ้นส่วน มึนนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ทั้ง อีวี อีโคอีวี ไมลด์ไฮบริด ที่จ่อเคาะภาษีสรรพสามิตใหม่ พร้อมขยับมาตรฐานไอเสียเป็นยูโร 5 ยูโร 6 และนํ้ามันดีเซล บี 20 ชี้แผนหว่านแห หวั่นกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ

จากแผนส่งเสริมอุตสาห กรรมยานยนต์ยุคใหม่ของรัฐบาล พร้อมดันให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 ต่อจากปิกอัพ และอีโคคาร์ โดยสิ้นปี 2561 กำหนดเส้นตายในการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ซึ่งมีหลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสนใจ

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวคิดที่แยกย่อยลงไป และเชื่อว่าเป็นการออกแบบการสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ที่มีความถนัดในเทคโนโลยีที่ต่างกัน เช่น เทคโนโลยีไมลด์ไฮบริด กำลังจะได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ไปจนถึงการต่อยอดโปรเจ็กต์อีโอคาร์ให้เป็นอีโคอีวี ซึ่ง3 หน่วยงานหลัก ทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิต และบีโอไอ กำลังทำงานร่วมกัน (ยังมีการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี ที่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมอีก)

ขณะที่ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 มีส่วนผลักดันให้เกิดไอเดียอีกหลากหลายเพื่อลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์ เช่น การขยับมาตรฐานจากยูโร 4 ไปสู่ยูโร 5 เร็วขึ้น เป็นภายในปี 2564 รวมถึงการสนับสนุนให้รถเครื่องยนต์ดีเซล รองรับนํ้ามัน ดีเซลที่ผสมไบโอดีเซล 20%(บี20)

MP28-3447-A

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่นำโดยผู้ผลิตรถยนต์เตรียมเข้าไปพูดคุยกับภาครัฐ อาทิกระทรวงพลังงานรวมถึงโรง กลั่นนํ้ามัน เพื่อให้ข้อมูลด้านต่างๆ ความพร้อมของผู้ผลิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

นายโมริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เพราะรถยนต์ที่ส่งออกไปในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปผ่านมาตรฐานยูโร 6 แล้ว อย่างไรก็ดีการปรับเปลี่ยนจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบกับราคาขาย จึงอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบส่วนนโยบายการสนับสนุนนํ้ามันดีเซล บี20 นั้นในตอนนี้รถยนต์ของมิตซูบิชิ ยังไม่สามารถรองรับได้

ขณะที่นิสสัน ประกาศว่ารถยนต์ของตนเองยังไม่สามารถรองรับนํ้ามันดีเซล บี20 ซึ่งบริษัทต้องมีการศึกษาหรือพิจารณาถึงความเหมาะสมส่วนแผนการจะปรับเปลี่ยนให้รองรับได้ หรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามแนวทางที่บริษัทวางไว้  เพราะการดำเนินงานแต่ละครั้งของนิสสันจะต้องมีการวางแผนระยะยาว เพื่อจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต

ทั้งนี้ประเด็นนํ้ามันดีเซล บี20 และการขยับมาตรฐานไอเสียไปสู่ยูโร 5 เกิดขึ้นหลังจากหลายจังหวัดในประเทศไทยประสบวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) หวังยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ใหม่ จากยูโร 4 ให้ขยับขึ้นมาเป็น ยูโร 5 ภายใน 1-2 ปี และยูโร 6 ภายใน 3 ปี เพื่อลดอัตราการปล่อยฝุ่นพิษจากรถยนต์ลง 80%

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่าสศอ.ประชุมกับบริษัทรถยนต์ 9 ยี่ห้อ ได้แก่เมอร์เซเดส-เบนซ์,บีเอ็ม ดับเบิลยู,โตโยต้า, อีซูซุ, มิตซูบิชิ, มาสด้า, ซูซูกิ, เอ็มจี, จีเอ็ม ทุกค่ายได้ตอบรับกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับ ยูโร 5 ในรถยนต์ใหม่ทุกรุ่นทุกคัน ภายในปี 2564 เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งจะเร่งรณรงค์ให้ลูกค้าที่ใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 4 เติมนํ้ามันที่ได้มาตรฐานยูโร 5 ที่มีจำหน่ายตามสถานีบริการนํ้ามันแล้ว

ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานยูโร5 ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ ได้แก่อีโคคาร์ 2 จำนวน 27 รุ่น และรถยนต์นั่งขนาดกลางและใหญ่ จำนวน 11 รุ่น รวมทั้งรถยนต์นำเข้า จำนวน 19 รุ่นสำหรับรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานยูโร 6 ได้แก่ รถยนต์นั่งขนาดกลางและใหญ่ที่ผลิตภายในประเทศ จำนวน 27 รุ่น และรถยนต์นำเข้า จำนวน 84 รุ่น

ขณะที่กรมสรรพสามิต ล่าสุดยังมีแนวคิดช่วยลดมลพิษด้วยการลดภาษีสรรพสามิตรถพลังไฟฟ้า “อีวี” จาก 2% เป็น 0%เพื่อจูงใจให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์(ที่ยื่นส่งเสริมการลงทุน กับบีโอไอไปแล้ว)หันมาผลิตรถประเภทนี้ให้เร็วขึ้น แม้ยืนยันว่าการลดภาษีนี้จะเป็นมาตรการชั่วคราวก็ตาม

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

จากทุกแนวโน้มดังกล่าว เห็นได้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแผนสนับสนุนอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้ง ยูโร 5-6 ,ไมลด์ ไฮบริด, อีโคอีวี รวมถึงประเด็นที่กรมสรรพสามิตมีแนวคิดจะลดภาษีเป็น 0%

แม้เป้าหมายใหญ่คือการพัฒนาให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถพลังไฟฟ้า(อีวี) ตามกระแสของโลก ซึ่งระหว่างทางก่อนไปถึงจุดหมาย มีรายละเอียดมากมายและทุกค่ายรถยนต์ต่างพยายามผลักดันเทคโนโลยีที่ตนเองถนัดให้เกิดขึ้นก่อน และกลายเป็นว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกดีลแล้วแต่ค่ายไหนจะเข้าไปเจรจา

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเข้าใจดีถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ในกรณีที่เกิดปัญหาเรื่องฝุ่นพิษต่างๆ อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาเทคโนโลยีนั้นต้องใช้เวลาศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงต้นทุน และความพร้อมทั้งระบบว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการเอาจริงเอาจัง ทั้งการสนับสนุนให้รถยนต์ในประเทศปรับมาตรฐานเป็นยูโร 5-6 รวมไปถึงการเร่งมือในโครงการยานยนต์ไฟฟ้า

“ตอนนี้มีหลายประเด็นมากในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ในเบื้องต้นผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่ทราบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข กรอบข้อบังคับต่างๆ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆที่มีความชัดเจน ตรงนี้เรายังไม่เห็น”

การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆมิใช่แค่กระทบกับผู้ผลิตรถยนต์ แต่ซัพพลายเชนทั้งระบบ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศกระทบด้วย เพราะแต่ละครั้งในการผลิตจะต้องมีการวางแผนกันระยะยาว ดังนั้นการจะเปลี่ยนในทันทีทันใดอาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งต้นทุนจะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย

“เรามีอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อรักษาซัพพลายเชนในประเทศไทย ดังนั้นหากเกิดการปรับเปลี่ยนและต้องพึ่งพิงการนำเข้าแทน ก็จะเป็นการกระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่างแน่นอน”แหล่งข่าวกล่าว

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,447 วันที่  24 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว