ชี้ช่องจากทีมทูต | รู้ลึกรู้จริง การทำธุรกิจ "ร้านอาหารไทย" ในอเมริกา (ตอนจบ)

26 ก.พ. 2562 | 07:19 น.
| คอลัมน์ : ชี้ช่องจากทีมทูต

| เรื่อง : รู้ลึกรู้จริง การทำธุรกิจ "ร้านอาหารไทย" ในอเมริกา (ตอนจบ)

……………….

ในประเด็นที่ 2 กฎหมายภาษี จากรายละเอียดของกฎหมายแรงงานมลรัฐแคลิฟอร์เนีย กำหนดไว้ว่า (1) ให้ลูกจ้างทำงานได้วันละ 8 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้นต้องได้ค่าล่วงเวลา (2) นายจ้างควรเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไว้อย่างน้อย 5 ปี หรือนานกว่านั้น เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงกรณีมีการฟ้องร้องในภายหลัง (3) ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยอย่างน้อยปีละ 24 ชั่วโมง (หรือ 3 วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง/วัน) หากสิ้นปียังมีวันลาเหลือ แต่ลูกจ้างมิได้ขอใช้ ให้ถือว่าสละสิทธิ์ (4) วันลาพักผ่อนจะมีหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน แต่หากนายจ้างให้สิทธิ์นี้กับลูกจ้างคนใด ลูกจ้างที่เหลือจะต้องได้รับด้วย และ (5) นายจ้าง-ลูกจ้างควรจัดทำคู่มือของลูกจ้าง (Employee Handbook) เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างทราบสิทธิ์ของตนเองตั้งแต่ก่อนจ้างงาน

ทั้งนี้ การเสียภาษีถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับลูกจ้าง (ทั้งที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย) เพราะหากเสียภาษีครบตามจำนวนที่ภาครัฐกำหนด (ทำงานครบ 40 ไตรมาส ภายใน 10 ปี) ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อเกษียณอายุ

พนักงานประจำของร้านอาหารถือเป็นลูกจ้าง (Employee) ตามแบบฟอร์มภาษี W-2 (ซึ่งนายจ้างต้องหักภาษีค่าจ้าง ณ ที่จ่ายไว้ และต้องสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง) ไม่ใช่ผู้รับจ้างอิสระ (Independent Contractor) ตามแบบฟอร์มภาษี 1099 เพราะไม่เข้าข่าย (เนื่องจากพนักงานยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง/กฎของร้านงานที่ทำก็เป็นงานในธุรกิจปกติของนายจ้าง และไม่ได้ทำงานให้ร้านอื่นด้วย) ดังนั้น ร้านที่ยังจ้างงานแบบ 1099 มีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบจาก Employment Development Department (EDD)

ส่วนแนวทางที่ต้องใช้พิจารณาในการเปิดร้านใหม่ ผู้ประกอบการควรพิจารณาเรื่อง (1) ทำเลที่ตั้ง (2) ค่าเช่าและสัญญาเช่า (จำนวนปีที่ยังเหลืออยู่จากเจ้าของเดิม) (3) รายละเอียดการเสียภาษีเงินได้ (Income Tax) ของเจ้าของเดิม (4) การใช้ระบบ Escrow และ (5) การเสียภาษีโรงเรือน (Property Tax) รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ (เช่น ค่าตกแต่งร้านใหม่ ค่างานเปิดตัวร้านอย่างเป็นทางการ เป็นต้น)

ประเด็นท้ายสุดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ คือ แนวทางสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารไทย ซึ่งในขณะนี้ ประกอบไปด้วย 2 กลไกสำคัญ ได้แก่ ศูนย์แรงงานไทย และหลักสูตรผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กของศูนย์ส่งเสริมชาวไทยในนครลอสแองเจลีส

 

[caption id="attachment_393165" align="aligncenter" width="456"] TP12-3447-1 คลิกเพื่อขยายภาพ[/caption]

ศูนย์แรงงานไทย (Thai Labor Center) เกิดจากสถานกงสุลใหญ่ฯ และหอการค้าไทยอเมริกันฯ ที่รับทราบปัญหาของร้านอาหารไทย โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนแรงงานและการปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น จึงได้จัดตั้งศูนย์แรงงานไทยขึ้นมา เพื่อช่วยจับคู่ความต้องการจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต โดยดำเนินการในรูปแบบของเว็บไซต์ www.thailaborcenter.com และ Facebook Page "Thai Labor Center US" รวมทั้งได้จัดทำแบบฟอร์มใบสมัครสำหรับร้านที่เปิดรับสมัครงานและแรงงานที่ต้องการหางานไว้ให้ผู้ที่สนใจสามารถกรอกใบสมัครไว้ โดยระบบจะเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สถานกงสุลใหญ่ฯ และหอการค้าไทยอเมริกันฯ เป็นต้น


090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

ส่วนหลักสูตรผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Program) จัดโดย ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย (Thai CDC) เป็นหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ไม่คิดค่าใช้จ่าย มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ (1) Entrepreneur Training Program (ETP) จัดปีละ 2 หลักสูตร หลักสูตรละ 25 ชั่วโมง โดยจะสอนเรื่องการเลือกสถานที่ตั้งร้าน โครงสร้างธุรกิจ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การบัญชี การตลาด การเข้าถึงแหล่งทุน ฯลฯ และ (2) E-Commerce Workshop เป็นการสอนการทำเว็บไซต์และการขายสินค้าออนไลน์ นอกจากนี้ Thai CDC ยังมีบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและการเงิน ทั้งยังได้จัดตั้ง Thai Town Market Place เพื่อให้เป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กให้มีสถานที่ตั้งร้านและทดลองทำธุรกิจเป็นเวลารายละ 3 ปี ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อ Thai CDC ได้ที่ โทร. +1 323 468 2555

ทั้งนี้ การทำธุรกิจในต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่าย แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่น่าลงทุนในธุรกิจร้านอาหารไทย แต่ถือว่ามีกฎระเบียบที่ละเอียดและครอบคลุมทุกบริบทในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ดี นอกจากความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงกฎระเบียบให้สามารถดำเนินธุรกิจตามได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยจะต้องเริ่มพัฒนาธุรกิจของตนให้สามารถแข่งขันในตลาด ด้วยการพัฒนาศักยภาพของตนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควบคุมเรื่องมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้บริการชื่นชมและแนะนำต่อไปแบบปากต่อปาก

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็น หรือ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,447 ระหว่างวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว