ซีอีโอปตท.คาดราคาน้ำมันดิบปีนี้60-70ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

22 ก.พ. 2562 | 07:56 น.
“ชาญศิลป์"คาดราคาน้ำมันดิบปีนี้60-70ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ห่วงIMO ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ในน้ำมันเตาลง ทำให้โรงกลั่นที่มีแก๊สโซลีนมากกระทบ ระดับสเปรดแก๊สโซลีนลดลงจาก 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางราคาน้ำมันในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  ซึ่งประเมินราคาคงไม่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะหากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมาก พลังงานทดแทนจะเข้ามาเร็วขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าสหรัฐฯ จะผลิตเชลล์ออยล์และเชลล์แก๊สมากขึ้น ทำให้โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบบางช่วงก็ลดลง และในบางช่วงสูงขึ้นมาจากการเกร็งกำไร

สำหรับในปี 2562 ปตท.ยังมองปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดยความเสี่ยงแรกคือ กรณีองค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ในน้ำมันเตาลง ทำให้โรงกลั่นที่มีแก๊สโซลีนมากกระทบ ระดับสเปรดแก๊สโซลีนลดลงจาก 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่โรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. มีสัดส่วนดีเซลมาก ส่วนปัจจัยด้านการเมือง ต้องดูว่าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง และใครเข้ามาดูแลกระทรวงพลังงาน รวมทั้งมีนโยบายอย่างไร

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561 ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 3.7 โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจยูโรโซนและจีน ความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าปีก่อน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4 ปี 2561 ส่งผลให้ในปี 2561 ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ทั้งในส่วนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันมีผลประกอบการที่ลดลง สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟินส์ก็มีผลการดำเนินงานลดลงตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2561 แม้ว่าปริมาณขายโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ยังอยู่ในระดับสูง

[caption id="attachment_393083" align="aligncenter" width="503"] ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ชาญศิลป์ ตรีนุชกร[/caption]

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ทำให้กำไรของ ปตท. ลดลงจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจน้ำมัน ในขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครบวงเงินแล้ว

อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น กลับมีปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้ผลประกอบการดีขึ้น โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากราคาและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นขณะที่กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั้งในส่วนที่ ปตท. ดำเนินการเองและดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่ม และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีผลการดำเนินงานดีขึ้นทั้งจากกำไรขั้นต้นต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น

จากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินงานของ ปตท. ปี 2561 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1.4 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 59,160 ล้านบาท และเมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ส่งผลให้ ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.3 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17) และมีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11) คิดเป็นกำไร 4.15 บาทต่อหุ้น ซึ่งคณะกรรมการ ปตท.ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2.00 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 36,258 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครืออีกประมาณ 45,962 ล้านบาท รวมเป็นรายได้นำส่งรัฐจากกลุ่ม ปตท. สำหรับผลประกอบการปี 2561 รวมประมาณ 82,220 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรของ ปตท. ภายหลังการจ่ายเงินปันผลให้แก่รัฐและผู้ถือหุ้น จะนำไปลงทุนเพิ่มเติมในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคม ตามแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่มปตท. เน้น 3 ด้านหลัก (3P) ได้แก่ People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Prosperity การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว