พานาฯบูมกลุ่มไลฟ์สไตล์ขนทัพโซลูชันบุกไทย

25 ก.พ. 2562 | 11:09 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“พานาโซนิค” ขานรับนโยบายบริษัทแม่ดันรายได้โตทั่วโลกสู่ศตวรรษที่ 2 ชูคอนเซ็ปต์ธุรกิจ “ไลฟ์สไตล์ อัพเด9” พร้อมลงทุนขยายไลน์การผลิตของโรงงานในไทย หวังฟันรายได้ทะลุแสนล้านในปี 2563

นายฮิเดคาสึ อิโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พานาโซนิคในประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายของบริษัทภายหลังก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 นับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์มองไปสู่อนาคตภายภาคหน้า หรือ “Co-Creation” ไปพร้อมกับคู่ค้า ลูกค้า ด้วยคอนเซ็ปต์ธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า “ไลฟ์สไตล์ อัพเดต” ภายใต้แนวคิดหลัก “A Better Life, A Better World” ในการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันใน 3 หมวด ได้แก่ Living Space, Mobility และ Business to Business (B2B) อาทิ กลุ่ม Mobility จัดแสดง แพลตฟอร์ม รถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปออกแบบตามการใช้งาน เป็นได้ทั้งรถ สำหรับครอบ ครัว รถไปรษณีย์ รถโรงเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของแผนงานในประเทศไทยปีนี้บริษัทมีแผนการดำเนินงานก็จะสอดคล้องกับบริษัทแม่และพานาโซนิคทั่วโลก ในเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนในการลงทุนขยายไลน์การผลิตสินค้าเอรุกตลาด B2B ของโรงงานในเมืองไทย เพื่อรองรับการเติบโตในส่วนของการส่งออกและตลาดภายในประเทศ

[caption id="attachment_393066" align="aligncenter" width="378"] ฮิเดคาสึ อิโตะ ฮิเดคาสึ อิโตะ[/caption]

ขณะที่ ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหัวหอกหลักในประเทศไทย ในปีนี้บริษัทมีแผน พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ในเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มฟังก์ชันที่หลากหลาย ภายใต้โซลูชัน Quality Air For Life ของพานาโซนิค ที่จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพของอากาศด้วย nanoeTM Technology ที่ยับยั้ง ฝุ่น PM 2.5 เชื้อราและไวรัส สามารถบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้

ด้านปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าอาจจะมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากนัก ซึ่งบริษัทได้มีการปรับแผนงานด้วยการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเพิ่มศักยภาพในโรงงาน ให้มีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น การออกแบบไลน์การผลิต ให้สามารถผลิตสินค้าได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัว ไม่ได้กระทบแค่เฉพาะ Panasonic เท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึง กลุ่มธุรกิจส่งออก ที่เป็นกังวลและต่างปรับแผนงาน เพื่อสร้างรายได้

อย่างไรก็ตามสำหรับปีงบประมาณ 2561 บริษัทคาดการณ์ว่าจะมีผลการดำเนินงานทั่วโลกอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ราว 1% จาก 4 กลุ่มธุรกิจประกอบด้วย กลุ่มที่ 1. Appliances Company (AP) สัดส่วนการขายที่ 31%, กลุ่มที่ 2. Eco Solutions Company (ES) สัดส่วนการขายที่ 23%, กลุ่มที่ 3. Connected Solution Company (CNS) สัดส่วนการขายที่ 13% และ กลุ่มที่ 4. Automotive & Industrial Systems Company (AIS) สัดส่วนการขายที่ 33%

ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปี งบประมาณ 2561 (เม.ย.61-มี.ค.62) คาดการณ์ว่าจะปิดรายได้ที่ 9.1 หมื่นล้านบาท แบ่งสัดส่วนตามลำดับ ดังนี้ กลุ่ม AP 24%/กลุ่ม ES 9%/กลุ่ม CNS 2% และกลุ่ม AIS 65% และคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2562 (เม.ย.62-มี.ค.63) จะสามารถปิดรายได้ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท โดยจากทิศทางการดำเนินงานพร้อมกับรุกตลาดอย่างต่อเนื่องของบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างรายได้ในประเทศไทยทะลุ 1 แสนล้านบาทได้ในปี 2563 และเป็นแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภคได้เป็นอันดับ 1 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จากปัจจุบันที่บริษัทถือเป็นแบรนด์ในอันดับ 3 ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,447 ระหว่างวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว