อีสานแล้งสุดในรอบ 20 ปี ม.ขอนแก่น ปรับมาตรการฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

18 มี.ค. 2559 | 10:10 น.
ผศ.กฤตภัทร ถาปาลบุตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เผยถึงสถานการณ์น้ำและการเตรียมรับมือวิกฤตการณ์ภัยแล้งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการใช้น้ำดิบจำนวน 14,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อวันโดยซื้อมาสำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น เพื่อนำมาผลิตน้ำประปาใช้ในการอุปโภค บริโภคจำนวน 10,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ใช้ในการแพทย์จำนวน 2,000 ลูกบาศก์เมตร และเก็บสำรองในกรณีที่น้ำประปาขาดแคลนจำนวน 2,000 ลูกบาศก์เมตร  ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยใช้น้ำดิบโดยแบ่งจากส่วนเก็บสำรองมาดูแลภูมิทัศน์จำนวน 500 ลูกบาศก์เมตร แต่ด้วยตระหนักถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันจึงนำน้ำบำบัดมาใช้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและร่วมวางมาตรการณ์ประหยัดน้ำสู้ภัยแล้ง

นอกจากนี้ยังมีนโยบายแจกจ่ายน้ำมือสอง (น้ำบำบัด) ให้ชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการเกษตร ภายใต้โครงการ มข.ช่วยภัยแล้ง โดยมีหมู่บ้านเป้าหมาย 5 หมู่บ้าน ในเขต ชุมชนบ้านโนนม่วง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ชุมชนหนองแวง และชุมชนรอบมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีความประสงค์ในการใช้น้ำบำบัดเพื่อการเกษตร มีกำหนดแจกจ่ายน้ำในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559  โดยร่วมมือกับ สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น

ทั้งนี้น้ำที่ชุมชนได้รับ ได้ผ่านกระบวนการบำบัด ปลอดภัยเหมาะสำหรับใช้เพื่อการเกษตร โดยมีการ แต่งตั้งคณะกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานชลประทาน คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มีการใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค  ไร้กลิ่นเหม็น ทำให้น้ำที่ได้จากการบำบัดมีค่าออกซิเจนตามค่ามาตรฐานคือ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำที่สามารถใช้เพื่อการเกษตร แต่ยังไม่สามารถนำไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้

“มหาวิทยาลัยตั้งเป้าหมายสูงสุดในการลดการใช้น้ำประปา โดยการแจกจ่ายน้ำที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน ซึ่งน้ำที่ได้จากการบำบัด ประชาชนสามารถคลายข้อกังวลเรื่องสารปนเปื้อน และ ความสะอาดของน้ำ เพราะคณะทำงานมีความเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันน้ำที่แจกจ่ายนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำไปเป็นน้ำดื่มเพราะว่าต้องไปผ่านระบบของการทำน้ำประปาก่อน น้ำนี้จึงเหมาะแก่การใช้รดน้ำต้นไม้ เพราะว่าสารที่อยู่ในน้ำมีคุณประโยชน์และเรายังใส่คลอรีนในปริมาณไม่มาก ถ้ามีคลอรีนมากน้ำจะกระด้าง ต้นไม้จะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร” ผศ.กฤตภัทร กล่าว

นอกจากการใช้น้ำบำบัดในการดูแลภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีแนวคิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าในระยะยาว โดยการใช้น้ำบำบัดในระบบชักโครก ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการนำร่องกับอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งมีกำหนดทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มีนาคม 2559 นี้

“เนื่องจากการใช้น้ำบำบัดในระบบชักโครกแทนการใช้น้ำประปานั้น จำเป็นต้องวางระบบท่อน้ำประปาใหม่ทั้งอาคาร ฉะนั้น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่จึงได้ออกแบบการก่อสร้างให้มีท่อสำหรับการจ่ายน้ำบำบัดเพื่อใช้ในระบบชักโครกโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นคนละท่อกับน้ำประปาที่ใช้อุปโภคในอาคาร ฉะนั้นวางใจได้ว่าห้องน้ำจะมีทั้งระบบท่อประปา ที่สามารถใช้ในการล้างหน้า ล้างมือ และส่วนท่อน้ำบำบัดที่ใช้เฉพาะล้างสิ่งปฏิกูลในชักโครก ซึ่งน้ำส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 30 ที่เราใช้ในห้องน้ำ หากเรานำน้ำบำบัดมาใช้ในชักโครกได้สำเร็จ จะสามารถลดการใช้น้ำประปาได้กว่าร้อยละ30 ซึ่งจะมีการขยายโครงการนี้ไปสู่อาคารอื่นๆในอนาคต” ผศ.กฤตภัทร กล่าว