'ญี่ปุ่น' ขาดดุลการค้าเพิ่ม แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

21 ก.พ. 2562 | 12:16 น.
สถิติการค้าเดือน ม.ค. 2562 ชี้ว่า ญี่ปุ่นส่งออกลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของจีน ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญชะลอตัวลง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ตัวเลขขาดดุลการค้าในภาพรวมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในอัตราเกือบ 50% เป็น 1.4 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นยอดการขาดดุลการค้ารายเดือนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 5.6 ล้านล้านเยน (ประมาณ 50,300 ล้านดอลลาร์) ขณะที่ การนำเข้าสูงถึง 7 ล้านล้านเยน (ราว 63,000 ล้านดอลลาร์) การส่งออกของญี่ปุ่นที่ลดลงนั้น เกิดขึ้นในประเภทสินค้าสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ ตั้งแต่เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงยานยนต์ การส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคเอเชียลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ การส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนประเทศเดียว ลดลงถึง 17% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตในอัตราชะลอตัว หรือกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจโตช้าที่สุดในรอบ 30 ปี


trade

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงได้ดุลการค้าสหรัฐอเมริกา โดยยอดได้ดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น 5% ในช่วงเดือน ม.ค. นั้น ขยับขึ้นไปแตะระดับ 3,300 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราเกือบ 7% ที่เห็นเด่นชัด คือ การส่งออกถยนต์และจักรกลที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีกำเนิดไฟฟ้า ขณะที่ ญี่ปุ่นนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากสหรัฐฯ มาก ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว ถ่านหิน และธัญพืช

นับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ที่ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นขยายตัว และยอดในเดือน ม.ค. ก็นับว่า สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2557 เป็นต้นมา

ตัวเลขการค้าที่ดูแผ่วลงเช่นนี้ เป็นสัญญาณไม่ดีนักสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่คาดหมายกันว่าจะยิ่งชะลอตัวลงมากในเดือน ต.ค. ปีนี้ หลังจากมีการปรับขึ้นภาษีการขาย (Sales Tax) จากที่อยู่ในอัตรา 8% ในปัจจุบัน เป็น 10% ในเดือน ต.ค. ตามที่รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้

นักวิเคราะห์มองว่า แนวโน้มการค้าโลกไม่สดใสนัก เนื่องจากสงครามการค้าที่ยังคุกรุ่นอยู่ ดังนั้น เมื่อมองไปข้างหน้า คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของญี่ปุ่นจะยังคงอ่อนแรง ท่ามกลางบริบทที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ของญี่ปุ่น จะแผ่วลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า อุปสงค์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกอาจจะปรับลดลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้

ติดตามฐาน

090861-1927-9-335x503-3