เผยผลสำรวจ ‘รอยเลื่อนระนอง’ วางแผนรับมือแผ่นดินไหว-สึนามิ

18 มี.ค. 2559 | 11:00 น.
วช.จับมือนักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ เผยผลสำรวจรอยเลื่อนระนอง พบหลักฐานบ่งชี้ที่อาจสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลด้านอ่าวไทย และทางน้ำโบราณระดับตื้นจำนวนมาก รวมถึงการจำลองการเดินทางของคลื่นสึนามิ หวังใช้เป็นข้อมูลวางแผนรับมือภัยพิบัติและการก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลในอนาคต

น.ส.พรรณี  ปัญญาวัฒนาพร ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยภายใต้โครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน “โครงการสำรวจส่วนต่อของรอยเลื่อนระนองในทะเลฝั่งอ่าวไทยเพื่อประเมินอันตรายจากแผ่นดินไหว”  โดย ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. และ Deutsche Forschungsgemeinschaft (DFG) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ ห้องประชุมลีลาวดี โรงแรมโนโวเทล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ผศ. ดร.ภาสกรกล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ได้สำรวจหาหลักฐานของกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังระนองที่ยาวต่อลงไปในทะเลด้านอ่าวไทย โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้ในการจัดทำแผนที่ระดับอันตรายแผ่นดินไหวบริเวณภาคใต้และภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและความรู้เรื่องแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิให้แก่หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนที่สนใจเรื่องผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวที่อาจมีต่อจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณใกล้เคียง รวมถึงชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อจะได้สามารถนำไปใช้ในการวางแผนรับมือต่อการเกิดแผ่นดินไหวต่อไปในอนาคต

จากการสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยเครื่องสำรวจตะกอนใต้ทะเลด้วยคลื่นเสียง (sub-bottom profiler) และเครื่องสำรวจด้วยวิธีคลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อนระดับตื้นในทะเล (shallow marine seismic reflection survey) รวมระยะทางการสำรวจทั้งสิ้นประมาณ 485 กิโลเมตร พบหลักฐานที่บ่งชี้รอยเลื่อนที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล ที่คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนมีพลังระนองที่ยาวต่อลงไปในทะเลด้านอ่าวไทยจนอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 30 กิโลเมตร และรอยเลื่อนในบริเวณเดียวกันกับที่มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในอ่าวไทยช่วงปี พ.ศ. 2549 โดยลักษณะรอยเลื่อนระนองในทะเลและบนบกมีความสอดคล้องกัน มีการวางตัวในทิศทางเดียวกัน คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบทางน้ำโบราณระดับตื้นเป็นจำนวนมากในอ่าวไทย ซึ่งทางน้ำเหล่านี้จะเป็นแหล่งทรายในทะเลที่มีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งวัสดุก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลของไทยต่อไปในอนาคต

การประเมินระดับอันตรายจากแผ่นดินไหว (seismic hazard analysis) พบว่าค่าอัตราเร่งสูงสุดของพื้นดิน (PGA) ของภาคใต้และภาคกลางตอนล่างที่มีรอบในการเกิดแผ่นดินไหว 475 ปี (มีโอกาสเกิดขึ้น 10% ในรอบ 50 ปี) ซึ่งเป็นรอบการเกิดแผ่นดินไหวที่เหมาะสมกับการประเมินเพื่อใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนทั่วไป มีค่าอยู่ระหว่าง 1 - 29 % g ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่ออาคารที่ไม่แข็งแรงได้ การจำลองผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาครอบคลุมภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จากการสมมติเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีขนาด 5.0 และ 6.0 เกิดขึ้นที่ตำแหน่งต่าง ๆ กัน พบว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้พื้นที่ศึกษามีค่าอัตราเร่งสูงสุดของพื้นดิน (PGA) อยู่ที่ 0 - 9.6 % g ซึ่งมีโอกาสทำความเสียหายไม่มากถึงปานกลางสำหรับอาคารที่ไม่แข็งแรง

ขณะที่การสร้างแบบจำลองเฉพาะระยะเวลาที่คลื่นสึนามิใช้ในการเดินทางถึงชายฝั่ง กรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสเกิดไม่มากนัก จากการจำลองการเกิดแผ่นดินไหวทั้งหมด 4 แห่งในบริเวณที่รอยเลื่อนระนองวางตัวอยู่ในทะเล พบว่าคลื่นสึนามิจะเดินทางถึงชายฝั่งทะเลด้านบริเวณสามร้อยยอด-ปากน้ำปราณ-อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในเวลาเพียง 15-40 นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเวลาที่ค่อนข้างน้อยสำหรับประชาชนในการรับมือกับคลื่นสึนามิ นอกจากนี้ยังพบว่าคลื่นสึนามิจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 2.40 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมาถึงฝั่งบริเวณชายฝั่งด้านสมุทรสงคราม-สมุทรสาคร-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ แต่เนื่องจากน้ำทะเลในอ่าวไทยค่อนข้างตื้น หากเกิดคลื่นสึนามิจริงก็น่าจะมีความสูงไม่มาก ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไปโดยใช้ข้อมูลความสูงต่ำของภูมิประเทศและความลึกของพื้นทะเลบริเวณชายฝั่งที่มีความละเอียดสูงในการสร้างแบบจำลอง

“การที่จะทำให้เห็นภาพรวมของรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่ต่อลงไปในทะเลมีความชัดเจนมากขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาสำรวจรอยเลื่อนดังกล่าวทั้งสองรอยเลื่อน และการศึกษาในทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงจะทำให้สามารถประเมินระดับอันตรายจากแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ของประเทศไทยได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด” หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวสรุป