EXIM BANK ฉลอง 25 ปี ดันสินเชื่อเพิ่มสุขช่วยผู้ส่งออก

21 ก.พ. 2562 | 09:59 น.
EXIM BANK ดันบทบาทเชื่อมผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้สร้างผู้ส่งออก SMEs ไทยที่แข่งขันได้ในทุกตลาด

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 25 ปีในปี 2562  EXIM BANK จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข (EXIM Happier Credit)” เพื่อเป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก (Start up) และไม่เคยได้รับสินเชื่อจาก EXIM BANK จะได้รับพิจารณาวงเงินสูงสุด 700,000 บาทต่อราย ขณะที่ลูกค้าปัจจุบันของ EXIM BANK จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย

01_0

โดยอัตราดอกเบี้ย อัตรารับซื้อลด ปีแรกอยู่ที่ 5.50% ต่อปี ปีที่ 2 อยู่ที่ Prime Rate -0.50% ต่อปีหรือ 5.75% ต่อปี พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(Forward Contract) สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน

นอกจากนั้นยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าและค้าขายออนไลน์ หรือลงทะเบียนร่วมกิจกรรมกับ EXIM BANK จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.50% ต่อปี โดยตั้งเป้าหมายอนุมัติวงเงินรวม 400 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมไม่น้อยกว่า 550 ราย เริ่มต้นส่งออกได้หรือส่งออกได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

02_0

สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ปี 2561 สำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีเงินสินเชื่อคงค้างสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 108,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,703 ล้านบาท หรือ 18.18%  เมื่อเทียบกับปีก่อน  โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,412 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 70,177 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 197,120 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 106,362 ล้านบาท

03 (show web)

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 42,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,765 ล้านบาท หรือ 15.53% ส่งผลให้ EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 1,365 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) อยู่ที่ 3.78% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ  4,103 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 9,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,436 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 4,572 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 205.25% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง

05_0

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังได้ขยายบริการประกันการส่งออกเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในปี 2561 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนเท่ากับ 92,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,545 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 22,278 ล้านบาท หรือ 24.10% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม

“EXIM BANK เร่งเดินหน้าพัฒนาองค์กรและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยนำพาผู้ประกอบการไทยไปสู่โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในตลาดใหม่ ด้วยการทำงานร่วมกันกับภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยความพร้อมทั้งด้านเครือข่ายธุรกิจ การเงิน และองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นายพิศิษฐ์กล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว