ลาอังกฤษอีกราย ... 'ฮอนด้า' ปิดโรงงาน หลัง "เบร็กซิท" พร้อมลุยผลิต "อีวี" ในจีน

21 ก.พ. 2562 | 07:10 น.
ในที่สุด "ฮอนด้า มอเตอร์" ก็เป็นผู้ลงทุนต่างชาติอีกรายที่โบกมือลาประเทศอังกฤษในฐานะฐานการผลิต โดยเมื่อต้นสัปดาห์ (19 ก.พ. 62) บริษัทได้ประกาศว่า ในปี 2021 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จะปิดสายการผลิตของโรงงานในเมืองสวินดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเดียวของฮอนด้าที่มีอยู่ในภูมิภาคยุโรป เพื่อที่จะหันไปโฟกัสการลงทุนเพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน ข่าวดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งใกล้จะถึงกำหนดถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ในวันที่ 29 มี.ค. นี้แล้ว

เป็นที่คาดการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ว่า การปิดโรงงานฮอนด้าในประเทศอังกฤษจะสร้างผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ หรือ "โดมิโน เอฟเฟคท์" ไปทั่ววงการรถยนต์ของอังกฤษ โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตจะต้องขบคิดทบทวนแผนธุรกิจของตัวเองเช่นกัน ว่า หากสูญเสียลูกค้ารายใหญ่อย่างฮอนด้าไปแล้ว บริษัทของตัวเองในฐานะซัพพลายเออร์จะอยู่ได้หรือไม่ หรือจะต้องปรับกลยุทธ์อย่างไร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนหลาย ๆ ด้าน อันจะเป็นผลพวงมาจากเบร็กซิทอีกด้วย


Honda-Swindon-Plant



 ป่วนทั้งซัพพลายเชน

ฮอนด้าประกาศว่า ภายในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) บริษัทจะปิดโรงงานในเมืองสวินดอน ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน และเป็นโรงงานผลิตเพียงแห่งเดียวที่ฮอนด้ามีอยู่ในภูมิภาคยุโรป สาเหตุหลัก ๆ มาจากยอดขายที่แผ่วบาง ไม่เป็นไปตามเป้า นายทาคาฮิโระ ฮาชิโกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮอนด้า ย้ำว่า การตัดสินใจปิดโรงงานครั้งนี้ คือ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกลยุทธ์การผลิตในตลาดโลกของฮอนด้า ที่บริษัทมีเป้าหมายก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแต่ละฐานการผลิต แต่นักวิเคราะห์มองว่า เบร็กซิทน่าจะเป็นเหตุผลร่วมด้วยไม่มากก็น้อย เพราะการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษก็เท่ากับเป็นการถอนตัวออกจากสิทธิประโยชน์ที่เคยมีเคยได้ในตลาดร่วมยุโรป

ขณะเดียวกัน ผลกระทบก็คือ บรรดาบริษัทซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ป้อนให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ของฮอนด้าในอังกฤษ ต่างพบว่า ตัวเองกำลังจะสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อธุรกิจของพวกเขาแบบหายวับไปกับตา ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ยูนิเพรส ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น บริษัทเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ จ้างคนงานราว 100 คน เพื่อรับงานประกอบโครงรถยนต์ให้กับฮอนด้า แต่เมื่อฮอนด้ามีแผนปิดโรงงานใน 2 ปีข้างหน้า ยูนิเพรสก็ต้องเริ่มพิจารณาเช่นกัน ว่า โรงงานของตัวเองจะต้องปิดตามด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมี บริษัท จี-เทคท์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบ ที่มี 2 โรงงาน ผลิตสินค้าแทบจะทั้งหมดป้อนให้กับโรงงานของฮอนด้า และบริษัท ทีเอส เทค ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอีกราย ที่ตามเข้ามาลงทุนในอังกฤษเพื่อผลิตเบาะรถยนต์ป้อนให้กับฮอนด้า ถึงตอนนี้ออกมายอมรับว่า อาจจะต้องมองหาบริษัทรถยนต์รายอื่นมาเป็นลูกค้า

 

[caption id="attachment_392525" align="aligncenter" width="503"] ภาพอดีตเมื่อครั้งฮอนด้า แจ๊ซ คันแรก ออกจากสายการผลิตของโรงงานในเมืองสวินดอน ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ภาพอดีตเมื่อครั้งฮอนด้า แจ๊ซ คันแรก ออกจากสายการผลิตของโรงงานในเมืองสวินดอน ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552[/caption]

ยันย้ายฐานไม่เกี่ยวเบร็กซิท

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เริ่มมีความกังวลมากขึ้น ว่า อังกฤษอาจจะต้องออกจากอียูปลาย ๆ เดือน มี.ค. นี้ โดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ นั่นก็ยิ่งทำให้เกิดความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยง และหลายบริษัทก็เริ่มลดขนาด หรือ ถอนการลงทุนออกจากอังกฤษ ความเคลื่อนไหวของฮอนด้าเป็นเพียงอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ช่วยตอกย้ำ ว่า การถอนตัวออกจากอียูท่ามกลางอุปสรรคและความยุ่งเหยิงนั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการโยกย้ายไหลออกของกลุ่มทุนและองค์กรธุรกิจไปจากระบบเศรษฐกิจของอังกฤษ

ในส่วนของฮอนด้านั้น การปิดโรงงานในเมืองสวินดอนจะกระทบพนักงานที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเองจำนวนกว่า 3,500 คน แต่ผลกระทบต่อลูกจ้างของบริษัทซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตในอังกฤษ หากนับรวมเข้าด้วยก็จะมากกว่านั้น 2-3 เท่า

 

[caption id="attachment_392527" align="aligncenter" width="503"] การปิดโรงงานในเมืองสวินดอน จะกระทบพนักงานที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเองจำนวนกว่า 3,500 คน การปิดโรงงานในเมืองสวินดอน จะกระทบพนักงานที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเองจำนวนกว่า 3,500 คน[/caption]

ทั้งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษและผู้แทนหอการค้าอังกฤษได้ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของฮอนด้าในครั้งนี้ ตัวเลขจากสมาคมผู้ค้าและผู้ผลิตยานยนต์ของอังกฤษชี้ว่า ในปี 2560 อุตสาหกรรมยานยนต์ของอังกฤษทำยอดขายที่ประมาณ 107,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นแหล่งจ้างงานราว 900,000 ตำแหน่ง ผลิตรถยนต์ส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอังกฤษ ถ้าหากอังกฤษต้องถอนตัวออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลง อุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะได้รับผลกระทบหนัก โดยรถยนต์ส่งออกจากอังกฤษไปยังตลาดอียูอาจจะต้องพบกับกำแพงภาษีสูงถึง 10% ไหนยังจะต้องเสียเวลามากขึ้นกับกระบวนการทางด้านศุลกากร

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ ผู้ผลิตรถยนต์อีกราย ได้ปลดคนงาน 4,500 คน และบริษัท นิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอีกราย ก็ประกาศพับโครงการที่จะผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในอังกฤษ ขณะที่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กำลังพิจารณาว่าจะโยกย้ายส่วนหนึ่งของสายการผลิตออกจากอังกฤษไปยังเนเธอร์แลนด์หรือไม่ ... นายโอซามุ ทานากะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยไดอิชิ ไลฟ์ ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจของฮอนด้ามีเหตุผลที่เหมาะควรรองรับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากเบร็กซิทและข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจฉบับใหม่ระหว่างญี่ปุ่นและอียู ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของฮอนด้า ออกมาปฏิเสธว่า การปิดโรงงานครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการปิดโรงงานครั้งแรกของฮอนด้าในต่างประเทศ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเบร็กซิท เพราะเหตุผลแท้จริง ก็คือ ในเวทีโลก ฮอนด้าถือเป็นผู้ผลิตระดับกลาง จึงจำเป็นต้องเลือกที่จะโฟกัสด้านใดด้านหนึ่งและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ


โฟกัสยานยนต์ไฟฟ้า ยึดจีนเป็นฮับส่งออก

ในปีที่ผ่านมา (2561) ฮอนด้าทำยอดขายในตลาดยุโรป รวม 140,000 คันโดยประมาณ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของยอดขายที่ทำได้ในสหรัฐอเมริกาและจีน และยังเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของยอดขายฮอนด้าทั่วโลก บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปไม่ถึง 1% ขณะเดียวกัน ตลาดอียูเองก็มีแนวโน้มมุ่งไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles หรือ EV) เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสมีแผนเตรียมห้ามการขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินภายในปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583) แต่หากฮอนด้าจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคยุโรป ก็อาจเป็นเรื่องไม่คุ้มทุน พิจารณาจากต้นทุนที่สูง อีกทั้งฮอนด้ายังต้องสร้างแบรนด์อีกมากในตลาดดังกล่าว ฉะนั้น จุดหมายการลงทุนของบริษัทในด้านนี้ จึงพุ่งไปที่ 'จีน' เป็นอันดับแรก

ประธานฮอนด้า ย้ำว่า บริษัทต้องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นและจีน เพื่อส่งออกไปยังตลาดยุโรป เมื่อถึงจุดนั้นบริษัทค่อยสร้างแบรนด์ฮอนด้าขึ้นที่นั่นอีกครั้ง บริษัทมีแผนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เกือบ 20 รุ่นในประเทศจีน ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ซึ่งในจำนวนนี้จะรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดด้วย ฮอนด้าตั้งเป้าใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าสู่ตลาดโลก เนื่องจากจีนยังคงเป็นแหล่งผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ต้นทุนต่ำ และมีนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน

ติดตามฐาน

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503