ทางออกนอกตำรา : ลุงตู่...อย่าผลีผลาม ‘พ.ร.บ.ข้าว’!

20 ก.พ. 2562 | 13:13 น.
พ.ร.บ.-ข้าว-001
เปิบข้าวทุกคราวคำ  จงสูจำเป็นอาจิณ

เหงื่อกูที่สูกิน  จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ถึงตอนนี้การออกแรงทำคลอด “พ.ร.บ.ข้าว” ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้เสนอ และพยายามผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 วันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2562 มีสัญญาณว่า คงจะลำบากยากเย็น ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา และทำให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องมี “ของร้อน” ในมือ โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่

การที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาเป็นกองหนุนให้กับ สนช.โดยระบุว่า “วันนี้เป็นการนำสิ่งที่ไม่ใช่กฎหมายตัวจริงมาเผยแพร่ ทำให้เกิดความเกลียดชังกันทั่วไปหมด ทั้งที่เจตนารมณ์ของ สนช. และรัฐบาล มุ่งหวังดูแลเกษตรกรให้มากขึ้น ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ว่าใคร และไม่ได้มีผลกระทบกับเกษตรกร ทั้งการเก็บเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยน และการขายเมล็ดพันธุ์ เพียงแต่ไปดูส่วนที่เป็นภาคเอกชนว่า จะทำอย่างไร”
บทลงโทษข้าว คำยืนยันของนายกฯ ที่แสดงเจตนาดีว่า “รัฐบาลมุ่งหวังที่จะดูแลเกษตรกร แต่จำเป็นต้องมีกระบวนการ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ขณะที่ สนช. เองก็ไม่ได้มุ่งหวังเอาเป็นเอาตายกับใคร วัตถุประสงค์สำคัญคือ ดูแลพี่น้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เราต้องไว้ใจกันตรงนี้ ถ้าไม่ไว้ใจกันเลยก็ทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่ออกกฎหมายก็ทำอะไรกันไม่ได้อีก” ... ผมว่า ดับร้อนไม่ได้ สถานการณ์เลยเถิดไปใหญ่ อันเกิดจากการขาดทำความเข้าใจกับสังคม และชาวนา 15 ล้านคน

ผมเห็นว่า...มนต์ขลัง ยันต์การันตีของนายกฯ ลุงตู่ มีนํ้าหนักที่ลดลงเสียแล้วในเวลานี้ ขืนมีการดันทุรังทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ในการประชุม วาระ 2-3 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ตามที่ คุณพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ออกมาให้ข่าว ว่า สนช.จะเดินหน้าบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาออกกฎหมาย ผมว่า...ยุ่งตายห่ะ!

การออกกฎหมายมากำกับดูแลข้าวนั้น เป็นประเด็นสาธารณะ (Public Policy) ที่กระทบกับชาวนาทั้งประเทศกว่า 15 ล้านคน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องละเอียด รัดกุม และเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มากกว่านี้

การออกกฎหมายที่กระทบกับธุรกิจข้าว ทั้งชาวนา และพ่อค้าที่มียอดการส่งออกปีละ 10-11 ล้านตัน มูลค่าเฉลี่ยปีละ 5,600-5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือตกประมาณ 1.7-1.8 แสนล้านบาทนั้น จำเป็นต้องตกผลึกในเรื่องทิศทางการพัฒนา และการสร้างมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบอาชีพในอนาคต...มิใช่จำกัดวงแคบแค่ สนช. ชาวนา ข้าราชการ เพียงไม่กี่คน

อีกทั้งนับตั้งแต่มีการเสนอร่างกฎหมายข้าวฉบับนี้ มีการปรับเปลี่ยน แก้ไขในหลักการ แนวคิด และการบังคับใช้ของกฎหมายในรายมาตรา จนแทบจะไม่เหลือหลักการและเหตุผลสำคัญ นอกจากการมอบอำนาจในการกำกับดูแล วิจัย อนุญาต ตรวจสอบ ให้กับกรมการข้าวอย่างเต็มแม็ก จากเดิมเป็นกรมวิชาการเกษตร และกรมการค้าภายใน...ซึ่งมิได้มีคุณูปการต่ออาชีพชาวนา หากแต่อาจจะเปิดทางให้ข้าราชการใช้ดุลพินิจมากขึ้น ....
T1. T2

นอกจากนี้ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุง ตัดทิ้งไปแบบยกมาตรา นับนิ้วได้เกือบ 20 มาตรา แม้แต่คำปรารภยังมีการแก้ไข....

มาตรา 2-12 ถูกแก้ไขและตัดออกไปหมด มาตรา 13, 14 ถูกตัดออก มาตรา 16 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมการข้าว ถูกแก้ไข มาตรา 19 มาตรา 20 ที่กำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือกออกใบรับซื้อข้าวเปลือกทุกครั้งและให้ส่งสำเนาใบรับซื้อข้าวเปลือกให้กรมการข้าว แก้ไข มาตรา 21-23 ถูกตัดออก มาตรา 27/1, 27/2, 27/3 ที่ถูกต่อต้านในเรื่องการขาย เก็บรวบรวม สายพันธุ์เมล็ดข้าว...ที่บรรดาเกษตรกร นักวิชาการวิตกกังวล ถูกตัดออกไปแทบทั้งหมด...และมีการแก้ไขใหม่ มาตรา 28, 29, 30 ถูกตัดออกเหี้ยน...แล้วจะเหลืออะไรในกฎหมายนี้...ไม่มีก็ไม่เป็นไร คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ทำงานได้อยู่แล้ว

[caption id="attachment_392217" align="aligncenter" width="500"] ทางออกนอกตำรา : ลุงตู่...อย่าผลีผลาม ‘พ.ร.บ.ข้าว’! เพิ่มเพื่อน [/caption]

นี่ไม่นับถึงข้อทักท้วงในเรื่องร่างกฎหมาย ที่ยังไม่มีบทบัญญัติที่จะสะท้อนออกมาว่า จะสนับสนุนการพัฒนาส่งเสริมอาชีพชาวนาให้เห็นถึงการเจริญเติบโตในอาชีพ มีความมั่นคง มองเห็นถึงอนาคต ในกฎหมายยังไร้ซึ่งข้อบัญญัติใดๆในการสนับสนุน ส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาประกอบอาชีพทำนาทดแทนคนรุ่นเก่าที่เข้าสู่วัยชรา ขาดการส่งเสริมการพัฒนาในระบบห่วงโซ่การผลิตข้าว

ไม่มีแม้กระทั่งการสนับสนุนการผลิตที่อิงแอบกับเทคโนโลยี หรือการมีสิทธิพิเศษใดๆ จากการคิดค้น สร้างนวัตกรรม ที่ได้รับการคุ้มครองของกฎหมายข้าว

ไม่มีแม้กระทั่งกองทุนใดๆ ที่จะใช้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายข้าวที่เป็นแก่นแกนของกฎหมาย มาสร้างกองทุนในการพยุงราคา พัฒนาสายพันธุ์ หรือดูแลผู้ประกอบอาชีพทำนาโผล่ออกมาให้ชาวนาได้เห็นอนาคตอันสดใส แม้แต่น้อย...นี่จึงเป็นจุดอ่อนของกฎหมายข้าวที่กำลังออกแรงผลักดันออกมา

ดังนั้น ข้อทักท้วงต่างๆ ที่กระหนํ่ากันออกมาอย่างเป็นระบบ และหลากหลายรูปแบบในขณะนี้ จึงเป็นเรื่อง ที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯลุงตู่ จะต้องเงี่ยหูฟัง และพิจารณากำหนดท่าทีให้ดี อย่าผลีผลามตาม สนช.ที่กำลังเหยียบคันเร่ง โดยบอกแต่เพียงว่าต้องการให้กรมการข้าวมีอำนาจ และเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เท่านั้น เพราะท่านคือผู้นำประเทศ ถ้าท่านเดินหน้า ท่านคือผู้รับกรรม มิใช่ สนช.ที่เสนอกฎหมาย...
คณะกรรมการข้าว-1 คณะกรรมการข้าว-2 บรรดา สนช. 17 คน ที่เป็นกรรมาธิการก็ตัวดี ทำคลอดกฎหมายมา แต่ศึกษาไม่ทั่ว ในทีมงานมีแต่ระดับผู้อำนวยการ นิติกรทำงานเฉพาะส่วน และส่วนใหญ่คนตัวเล็กทั้งสิ้น การดิ้นสู้ไปในขณะที่สาระของกฎหมาย แทบจะเหลือแต่ซาก ต้องเงี่ย หูฟังให้มาก หากไม่ต้องการให้รัฐบาล คสช.มีมลทิน ชนิดที่เนื้อ ไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ สนช.เอากระดูกมาแขวนคอ...

หากจะเดินหน้า สนช.จำเป็นต้องเพิ่มบทบัญญัติที่ทำให้ชาวนา 15 ล้านคน เห็นถึงอนาคตที่ดีและสดใสในอาชีพ ที่พวกเขาทั้งหลายพึงได้จากการออกกฎหมายมาบังคับใช้

หาไม่แล้วก็ต้องรู้จักการถอย 1 ก้าว เพื่อยืดเวลาในการพิจารณาออกไป เพื่อหาข้อมูลให้รอบคอบ อย่าเดินหมากรุก เสนอเข้าสภาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จนล้มไปทั้งกระดานโดยเด็ดขาด

ในทางการเมือง ขอบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ กำลังเดินไปสู่ทางตัน และอาจทำให้พลังของนายกฯ ลุงตู่ ร่อยหรอลง...อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยซํ้าไป เพราะการเมืองได้ “จุดไฟในนาคร” ขึ้นมาในหัวใจชาวนาได้ง่ายที่สุด ทั้ง ๆ ที่เป็นคนที่มีพลังอำนาจการต่อรองน้อยที่สุด..อย่างดีก็สะท้อนออกมาแค่กาพย์ยานี 11 ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ประพันธ์...

“เปิบข้าวทุกคราวคำ       จงสูจำเป็นอาจิณ

เหงื่อกูที่สูกิน                  จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ข้าวนี้นะมีรส                 ให้ชนชิมทุกชั้นชน

เบื้องหลังสิทุกข์ทน         และขมขื่นจนเขียวคาว

จากแรงมาเป็นรวง          ระยะทางนั้นเหยียดยาว

จากรวงเป็นเม็ดพราว      ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ

เหงื่อหยดสักกี่หยาด        ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น

ปูดโปนกี่เส้นเอ็น            จึงแปรรวงมาเป็นกิน

นํ้าเหงื่อที่เรื่อแดง              และนํ้าแรงอันหลั่งริน

สายเลือดกูทั้งสิ้น               ที่สูซดกำซาบฟัน”

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3446 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ.2562 
595959859