"รถบรรทุก" แห่ปักธงไทย! 'ฮีโน่' ทุ่ม 4 พันล้าน • 'ฟูโซ่' เล็งขายรถไฟฟ้า

24 ก.พ. 2562 | 03:59 น.
สังเวียนรถบรรทุก-หัวลากเดือด! ค่ายญี่ปุ่น-ยุโรปยึดไทยหัวหาด 'ฮีโน่' เทงบ 4,000 ล้านบาท ผุดศูนย์พัฒนารุ่นใหม่ พร้อมใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรองจากบริษัทแม่ ด้าน วอลโว่ ทรัคส์ - ยูดี - สแกนเนีย เตรียมเปิดตัวโมเดลใหม่สู้ ขณะที่ เจ้าตลาดอย่างอีซูซุไม่หวั่น ชูจุดแข็งราคาขายต่อดี พร้อมขยายระยะเวลารับประกัน 5 ปี

ประเทศไทยยังคงเนื้อหอม หลังค่ายรถบรรทุกหลายแบรนด์แห่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงาน พร้อมกับใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ล่าสุด ค่ายผู้นำอย่าง 'ฮีโน่' เดินหน้าเต็มสูบ ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างทางธุรกิจ และประกาศทุ่มเม็ดเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างฐานการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย

ศูนย์ดังกล่าวจะมีโรงงานแห่งใหม่ มีศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และสนามทดสอบ พร้อมอาคาร ตั้งอยู่ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ บนพื้นที่ 4 แสน ตร.ม. หรือ 250 ไร่ เริ่มก่อสร้างเดือน ก.ค. 2562 และเปิดดำเนินงานในปี 2564 ส่วนแผนการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียนนั้น คาดว่าเป็นปี 2567

"เรามีเป้าหมายเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ซึ่งศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รวมการวางแผนผลิตภัณฑ์ การพัฒนา และการผลิต รวมทั้งการบริการแบบบูรณาการในอาเซียนไว้ด้วยกัน ซึ่ง HMMT จะร่วมมือและพัฒนาร่วมกับฮีโน่ในอาเซียน เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและเสริมความแข็งแกร่งร่วมกันในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจลูกค้าในภูมิภาคอาเซียน" นายสมชาย เปลี่ยนแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (HMMT) กล่าวและว่า


MP28-3446-A

"การลงทุนในครั้งนี้ ต้องการให้ไทยเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน และเป็นเสาหลักแห่งที่ 2 ถัดจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ ไทยยังเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญและเป็นผู้ขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการแบบบูรณาการภายในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย"

ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของค่ายอื่น ๆ ก็คึกคักไม่แพ้กัน โดยวันที่ 23 ก.พ. ค่าย "สแกนเนีย" เปิดตัวรถบรรทุกรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งใช้เม็ดเงินไปกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นแล้วจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่จะรองรับตลาดทั้งในประเทศและในอาเซียน

"ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายตลาดที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียทั้งหมด และสแกนเนียได้เห็นโอกาสและศักยภาพนั้น จึงทำการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค พร้อมเปิดทำการโรงงานประกอบแห่งใหม่ที่ประเทศไทย เพื่อการขยายฐานการผลิตและจัดส่งสินค้าในแถบภูมิภาค" นายสเตฟาน ดอร์สกี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด กล่าวว่า

ผู้เล่นแบรนด์ยุโรปอีก 1 ราย "วอลโว่ ทรัคส์" ก็เตรียมอวดโฉมรถใหม่ พร้อมเทคโนโลยีที่เป็นจุดขายด้านความปลอดภัย ขณะเดียวกัน วอลโว่ทรัคส์ยังขานรับนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการใช้นํ้ามันไบโอดีเซล B20 โดยประกาศว่า รุ่นที่มีเครื่องยนต์ D9A, D9B, D11A, D11B, D13A, D16A, D16C, D16E และ FH/FM VERSION2 ซึ่งถูกผลิตตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นไป สามารถที่จะใช้ได้

ส่วนค่ายที่เพิ่งเปิดตัวรถรุ่นใหม่ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ ยูดี ทรัคส์ ที่ส่งรุ่นเควสเตอร์ใหม่ มาพร้อมกับเทคโนโลยี อาทิ เกียร์กึ่งอัตโนมัติ ESCOT, ระบบยูดี เทเลเมติกส์ ที่เพิ่มฟังก์ชันให้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีจุดเด่น คือ น้ำหนักตัวรถที่ลดลง ซึ่งทั้งหมดจะช่วยทำให้อัตราการสิ้นเปลืองนํ้ามันลดลงจากรุ่นเก่าได้อีกประมาณ 10% และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับนํ้าหนักบรรทุกได้เพิ่มขึ้น

ยูดี ทรัคส์ คาดว่า รถรุ่นใหม่จะขายได้ทั้งตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยตัวเลขในปี 2561 พบว่า ไทยสามารถส่งออกรถบรรทุก ยูดี ทรัคส์ 8,500 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ส่งออกจากไทยประมาณ 6,000 คัน

ค่ายน้องใหม่ แต่ชื่อไม่ใหม่อย่าง ฟูโซ่ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีฮีเคิลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ดีซีวีที หลังจากปีที่ผ่านมา ประกาศเดินหน้าตั้งโรงงานในไทยและจะพร้อมผลิตในปลายปีนี้ ล่าสุด ได้มีการนำรถบรรทุกไฟฟ้า "ฟูโซ่ อีแคนเทอร์ 1.0" เข้ามาอวดโฉมในประเทศไทยในงาน "Future of Mobility"

สำหรับ ฟูโซ่ อีแคนเทอร์ เป็นรถบรรทุกที่สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนเพียง 6 ก้อน และสามารถขับขี่ได้ระยะทาง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ในปัจจุบัน รถบรรทุกรุ่นนี้มีอยู่บนท้องถนนในประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และในปี 2564 จะมีการผลิต ฟูโซ่ อีแคนเทอร์ รุ่น 2.0 สู่ตลาดโลก และไทยมีโอกาสเป็นหนึ่งในตลาดที่วางจำหน่าย

ด้านค่ายผู้นำเบอร์ 1 อย่าง "อีซูซุ" หลังเปิดตัว คิงออฟ ทรัคส์ ในปี 2560 และได้รับการตอบรับที่ดี ส่งผลให้อีซูซุครองอันดับ 1 ของรถบรรทุกขนาด 2 ตันขึ้นไป (ตัวเลขตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2543 - 31 ธ.ค. 2561) และเพื่อเป็นการตอกยํ้าความเป็นผู้นำ อีซูซุจึงมีการปรับเพิ่มฟังก์ชันใหม่เข้ามา อาทิ แอร์แบ็ก กระจกไฟฟ้า เซ็นทรัลล็อก อีกทั้งสื่อสารตลาด โดยชูจุดแข็งอย่าง ราคาขายต่อดี ความพร้อมด้านบริการหลังการขาย ราคาอะไหล่ไม่แพง อีกทั้งยังขยายระยะเวลาการรับประกันจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี

"ยอดขายรถบรรทุกในปีที่ผ่านมา ถือว่าทำผลงานได้ดีมาก ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ทำมา ด้วยยอด 15,732 คัน เติบโต 9.4% ครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50.6% ขณะที่ เป้าหมายในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน และเราคาดว่าจะเริ่มส่งออกรถบรรทุกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนในปีนี้"

นายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า เรียกได้ว่า พร้อมรบกันทุกค่าย ซึ่งเป้าหมายมิใช่แค่ตลาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงเอเชียและโอเชียเนียอีกด้วย

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3446 ระหว่างวันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว