'ทีดีอาร์ไอ' หวั่นรายเดียวกินรวบ "ดิวตี้ฟรี"

20 ก.พ. 2562 | 00:54 น.
'ทีดีอาร์ไอ' ค้าน ทอท. รวบประมูลดิวตี้ฟรี พื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 สนามบิน สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ หวั่น! รายเดียวกินรวบ พร้อมชี้ช่องเลิกผูกขาด แยกสัญญารายสินค้า

จับตาการประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในวันนี้ (20 ก.พ.) ที่จะมีการพิจารณาการหลักเกณฑ์การประกวดราคาร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่อาจจะมีการเปิดประมูลรวมกับสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ มาไว้ในสัญญาเดียว รวมทั้งแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ด้านทิศเหนือของสนามบิน


117-2

ทีดีอาร์ไอค้านรวบประมูล 4 สนามบิน

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องการเมือง ดังนั้น ฝ่ายการเมืองต้องชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้ามองในมุมเศรษฐกิจไม่เห็นด้วยที่จะรวบ 4 สนามบิน เป็น 1 สัญญา เพราะแต่ละสนามบินมีลักษณะไม่เหมือนกัน การประมูลจึงควรแยกสัญญาเป็นของแต่ละสนามบิน หากรัฐต้องการผลตอบแทนที่ดีที่สุดจะต้องไม่พ่วงสัญญา

นอกจากนั้น แต่ละสนามบินก็ไม่ต้องการผู้ประกอบการรายเดียว เพราะสนามบินขนาดไม่เท่ากัน สิ่งแวดล้อมก็ต่างกัน ดังนั้น ในการทำสัญญากับผู้ประกอบการรายเดียวก็เป็นไปได้ สำหรับสนามบินเล็ก ๆ หากไม่ใช่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ถ้าเป็นสนามบินสุวรรณภูมิที่มีขนาดใหญ่ไม่เห็นด้วย หากจะมีสัญญาเดียวสำหรับผู้ประกอบการรายเดียว

"เรื่องนี้พิสูจน์มาจากหลายสนามบินในโลกที่มีขนาดใหญ่และเล็กกว่าสุวรรณภูมิก็มีหลายสัญญา อย่างเช่น สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ที่มีขนาดของสนามบินเท่ากับสุวรรณภูมิก็มีหลายสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี โดยแตกเป็นประเภทและหมวดหมู่ของสินค้า"


20150826101013

เสนอ 2 ทางออกป้องผูกขาด

สำหรับข้อดีของการแยกสัญญารายประเภทสินค้า คือ 1.จะทำให้มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพราะหากเป็นผู้ประกอบการรายเดียวจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทุกสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการรายหนึ่งอาจจะเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องสำอาง อีกรายเชี่ยวชาญเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ อีกรายเชี่ยวชาญเรื่องเหล้าบุหรี่ เปรียบได้กับห้างสรรพสินค้าทั้งห้าง หากมีผู้ประกอบการรายเดียวก็อาจไม่ใช่ จึงมีผู้ที่ถนัดในแต่ละประเภทสินค้ามาเสนอขายสินค้าแต่ละประเภท

2.ผลตอบแทนกับรัฐจะได้มากขึ้น เงินที่นำส่งรัฐจะมากกว่าการให้สัมปทานรายเดียว เพราะสินค้าแต่ละแบบกำไรไม่เหมือนกัน ดังนั้น ผลตอบแทนให้รัฐก็ไม่เท่ากัน เช่น บางรายถนัดสินค้าประเภท เหล้า บุหรี่ เครื่องสำอาง กำไรก็จะสูง 30-40% แต่กลับไม่ถนัดสินค้าประเภทเสื้อผ้า แต่ก็ต้องขายทั้งที่กำไรไม่สูง เมื่อนำกำไรมาถัวเฉลี่ยกำไรก็ทำให้ฉุดรายได้ลง การส่งรายได้เข้ารัฐก็น้อยลง แต่หากแยกสินค้าตามความถนัดของผู้ประกอบการโอกาสที่จะมีกำไรก็มากขึ้น แทนที่จะเฉลี่ยกำไรและขาดทุนในผู้ประกอบการรายเดียว รัฐเองก็จะได้รายได้มากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมารายได้ของรัฐตํ่ากว่าสนามบินอื่นอย่างมาก

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว