อย่าดันทุรัง ผ่านร่างก.ม.ข้าว

19 ก.พ. 2562 | 13:00 น.
อย่าดันทุรัง-01

rice-3897515_960_720 ด้วยเหตุว่าชาวนาเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ มีชาวนาร่วม 4 ล้านครัวเรือน รวมลูกหลานชาวนามีไม่ตํ่ากว่า 16 ล้านคนและประเทศนี้มีอาชีพทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักกันมาเป็นร้อยๆ ปี จากผลิตเพื่อบริโภคภายในเป็นผลิตทั้งบริโภคภายในและส่งออกปีละไม่น้อยกว่า 30 ล้านตันข้าวเปลือก ราคาข้าวและความเป็นอยู่ของชาวนาจึงเป็นที่จับจ้องมองจากหลายฝ่าย เรียกง่ายๆ ว่ามีผู้คนหลายภาคส่วน มีความเป็นห่วงชาวนาเยอะมากทั้งก่อนเลือกตั้ง ในห้วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง และทั้งรัฐบาลเลือกตั้งและไม่เลือกตั้ง

มีความพยายามช่วยชาวนาในหลายๆ วิธี จากทุกรัฐบาลในอดีต แตกต่างกันออกไป บ้างประกันราคา บ้างจำนำ บ้างช่วยเหลือปัจจัยการผลิต แล้วแต่วิธีการที่สรรหาและคิดค้นขึ้นได้ แต่บางครั้งความหวังดี ความคิดช่วยเหลือ แฝงมาด้วยผลประโยชน์ โดยอาศัยชาวนาเป็นฐานตัวประกัน เหมือนกับโครงการจำนำข้าวรอบที่ผ่านมา ซึ่งมีการฉ้อฉลมโหฬาร สร้างความเสียหายให้แผ่นดินหลายแสนล้านบาท เป็นการดำเนินการที่เคลือบแฝง โดยอาศัยตรรกะว่าชาวนาต้องได้รับความช่วยเหลือ

รัฐบาลชุดนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดนี้ก็มีความพยายามในการช่วยเหลือชาวนาเช่นกัน โดยพยายามตรากฎหมายร่าง พ.ร.บ.ข้าวขึ้นมา เหตุผลของการตราร่างกฎหมายนี้นัยว่าผู้ร่างต้องการแก้ปัญหาอาชีพชาวนาที่เสี่ยงขาดทุนสูง ต้องการให้มีนโยบายข้าว สถาบันที่สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิต จำหน่าย ตลอดห่วงโซ่การผลิต เกิดการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง ยั่งยืน อย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ

[caption id="attachment_390894" align="aligncenter" width="500"] อย่าดันทุรัง ผ่านร่างก.ม.ข้าว เพิ่มเพื่อน [/caption]

ร่างแรกที่นำเข้าสู่ สนช. กลับเน้นให้อำนาจแก่กรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว ทั้งๆ ที่อำนาจหน้าที่เหล่านั้น มีหน่วยราชการอื่นดูแลรับผิดชอบตามกฎหมายอยู่แล้ว ซํ้าซ้อนกับกฎหมายอื่นก่อนตัดออกไป แต่ยังแฝงอยู่ในแง่บทบาทของกรมการข้าวจากผู้ทำวิจัย พัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้ควบเรกูเลเตอร์ผู้กำกับดูแล ซึ่งทำหน้าที่ทั้งผู้ตรวจสอบและผู้พัฒนาในร่างเดียวกัน ผิดวิสัยของหลักธรรมาภิบาลและการบริหารงานโดยทั่วไปและในร่างยังมีข้อกำหนดให้ทำรายงานและออกใบรับซื้อข้าวข้าวเปลือกที่เป็นข้อถกเถียงถึงความจำเป็นดังกล่าวในแง่ของการตราเป็นกฎหมาย
paddy-3530403_960_720 จากร่างกฎหมายที่แก้ไขล่าสุดตัดทอนข้อกังวลไปหลายมาตรา กระทั่งขาดมิติของการพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมชาวนาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและซํ้าซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับข้าว มีผู้ปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้ว ร่างกฎหมายนี้จึงส่อจะกลายเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ชัดเจนออกมาบังคับใช้ แทนที่จะเป็นประโยชน์ จะกลับกลายเป็นผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง จึงต้องพิจารณาว่าร่างกฎหมายนี้ยังมีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่มีกฎหมายนี้ ถึงขนาดจะทำให้การบริหารบ้านเมืองในเรื่องเกี่ยวกับข้าว มีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องดันทุรังออกกฎหมายนี้แต่อย่างใด

| บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3446 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ.2562
595959859