"5 พรรค" ผ่านเกณฑ์ คว้า ส.ส. 25 ที่นั่ง ลุ้นเสนอชื่อชิงนายกฯ

21 ก.พ. 2562 | 04:09 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 รวม 68 คน จาก 44 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา

สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. นี้ เป็นครั้งแรกที่กฎหมายบัญญัติให้พรรคการเมืองเสนอ "บัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี" ก่อนการเลือกตั้งไม่เกินพรรคละ 3 รายชื่อ โดยผู้ที่จะมีโอกาสเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 บัญญัติไว้ว่า


"ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต. ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ"

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ได้บัญญัติไว้ด้วยว่า ส.ส. ต้องพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอ โดยบุคคลที่อยู่ใน "บัญชีว่าที่นายกฯ" ของทุกพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้รับการเลือกเป็น "นายกรัฐมนตรี" ได้นั้น จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน พรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน จึงจะมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ


tp16-3446-aa

จากกฎกติกาใหม่ข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และใช่ว่าทุกพรรคการเมืองที่เสนอ "บัญชีว่าที่นายกฯ" เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและมีมติแต่งตั้งให้เป็น "นายกรัฐมนตรี" ได้

เมื่อวิเคราะห์ดูจากฐานเสียงเดิมและประเมินสถานการณ์เบื้องต้น พอจะ "ฟันธง" ได้ว่า จาก 44 พรรค มีเพียง 5 พรรคการเมือง ที่พอจะ "ผ่านเกณฑ์" ได้ ส.ส. 25 ที่นั่งขึ้นไป มีสิทธิเสนอชื่อให้สภาพิจารณาและมีมติแต่งตั้งให้เป็น "นายกรัฐมนตรีคนที่ 30" ได้ ประกอบด้วย

● พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงชื่อเดียว

● พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว

ด้าน พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอเต็มโควตา 3 รายชื่อ ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาเป็นลำดับที่ 1 ตามด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติศิริ มาเป็นลำดับที่ 3

ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเพียงชื่อเดียว

เช่นเดียวกับ พรรคอนาคตใหม่ ที่เสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าชิงชัยเพียงคนเดียว

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ณ ขณะนี้ เห็นว่ากระแสมาแรง จึงคาดว่าน่าจะสามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส. ได้ 25 ที่นั่ง เพียงพอที่จะเสนอชื่อนายกฯ เข้าโหวตในสภาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอประเมินกันในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งกันอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนพรรคอื่น ๆ ที่ต้องลุ้นกันตัวโก่งเพื่อให้มีสิทธิเสนอชื่อ "บัญชีนายกฯ" คงต้องทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนี้ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เสนอชื่อ กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว ตำแหน่งสูงสุดเคยนั่งเก้าอี้ รมช.ศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย กับสโลแกนพรรคที่ว่า "มาร่วมกัน ก้าวข้ามความขัดแย้ง กับพรรคชาติไทยพัฒนา" จะเป็นบันไดให้สามารถขึ้นแท่นไปร่วมชิงชัยได้หรือไม่

มาที่พรรคชาติพัฒนาที่มากับสโลแกนอมตะ "ชาติพัฒนา No problem" วลีติดปากของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยเสนอ 3 รายชื่อ ประกอบด้วย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค มาเป็นลำดับที่ 1 ต่อด้วยชื่อ นพ.วรรณรัตน์ ชาญขนุกูล ที่ปรึกษาพรรค มาเป็นลำดับที่ 2 ขณะที่ ชื่อของ เทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค อยู่รั้งท้ายในลำดับที่ 3

ขณะที่ พรรคประชาชาติ เสนอชื่อ 1.วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภา 2.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3.ณหทัย ทิวไผ่งาม อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย ที่หวนกลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่เว้นวรรคงานการเมืองมานาน

สำหรับพรรคพลังท้องถิ่นไทใช้สโลแกนพรรคว่า "ชัชเจนเพื่อคนไทย" ก็เสนอชื่อ ชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคลำดับที่ 1 และโกวิทย์ พวงงาม ประธานยุทธศาสตร์พรรค มาเป็นลำดับที่ 2 โดยชูนโยบาย "ยาเสพติดต้องหมดไป"

พรรคเสรีรวมไทยกับสโลแกนของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรค ชูนโยบาย "ประชาชนต้องอยู่ดี กินดี กินอิ่ม" ก็เสนอเพียงชื่อหัวหน้าเพียงคนเดียวเช่นกัน

ต้องรอลุ้นกันว่า ในจำนวน 4-5 พรรค ที่คาดว่าจะได้จำนวน ส.ส. ถึง 25 ที่นั่ง และมีสิทธิส่งชื่อเสนอโหวตชิงนายกฯ ในสภา แล้ว "ใคร" จะคว้าตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ไปครองได้สำเร็จ ...


| รายงานโดย ... ทีมข่าวการเมือง

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3446 ระหว่างวันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ 2562

595959859