"ตลาดรถยนต์โลก" ตั้งเค้าปั่นป่วน! อุปสงค์แผ่ว ซ้ำ "อียู-สหรัฐฯ" พร้อมสาดมาตรการภาษี

19 ก.พ. 2562 | 09:07 น.
ความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกพุ่งขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกายื่นเสนอบทสรุปของรายงานการไต่สวน ภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act 1962 ว่าด้วยเรื่องรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือไม่ ให้กับประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา แม้บทสรุปของรายงานยังไม่เป็นที่เปิดเผยและผู้นำสหรัฐฯ มีเวลาพิจารณา 90 วัน แต่สหภาพยุโรป (อียู) ผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ คู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ก็สวนกลับมาแล้ว ว่า ถ้าผู้นำสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบตามที่เคยลั่นวาจาเอาไว้ ว่า อาจจะสูงถึง 25% อียูก็พร้อมตอบโต้ในทันที ด้วยมาตรการทางภาษีที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดย นางมาการิทิส ชินาส โฆษกกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ว่า หากสินค้าส่งออกของอียูได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อียูก็พร้อมที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงขึ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 20,000 ล้านยูโรป หรือประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 7.59 แสนล้านบาท)

 

[caption id="attachment_391637" align="aligncenter" width="503"] ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์[/caption]

ผู้นำสหรัฐฯ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการไต่สวนเรื่องการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ว่า จะมีผลเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือไม่ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 และนับจากวันยื่นรายงานผลสรุปการไต่สวน (17 ก.พ. 2562) เขามีเวลาพิจารณา 90 วัน ว่า จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตามที่กระทรวงพาณิชย์ระบุหรือไม่ โดยสินค้าในรายงานการไต่สวนครอบคลุมตั้งแต่รถยนต์ประกอบทั้งคันจากต่างประเทศ รถเอสยูวี รถตู้ รถปิคอัพ ไปจนถึงชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตในต่างประเทศ ที่อาจจะรวมถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับด้วย


➣ ยอดขายแผ่ว แล้วภาษียังสูงซ้ำเติม

สิ่งที่เป็นความกังวลใจ ก็คือ หากสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบจริงตามที่คาดหมายกันไว้ ทั้งต้นทุนผลิตและราคาจำหน่ายที่สูงขึ้น ก็จะสร้างแรงเขย่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในวงกว้าง โดยคาดว่า อุปสงค์หรือความต้องการซื้อรถใหม่จะลดวูบลง ขณะที่ บริษัทผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงขึ้นก็จะทำกำไรได้น้อยท่ามกลางสภาวะที่ยอดขายแผ่วบางลง


car1
"ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่แนวโน้มยอดขายรถยนต์ในตลาดจีนยังคงลดลงต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ม.ค. ปีนี้ ที่ยอดขายลดลงทำสถิติลดมากที่สุดในรอบ 7 ปี เช่นเดียวกับตลาดอเมริกาและยุโรป"

ต้นสัปดาห์นี้ (18 ก.พ.) ตัวเลขเผยแพร่โดยหน่วยงานของจีน ยิ่งช่วยตอกย้ำลางร้ายดังกล่าว ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่แนวโน้มยอดขายรถยนต์ในตลาดจีนยังคงลดลงต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ม.ค. ปีนี้ ที่ยอดขายลดลงทำสถิติลดมากที่สุดในรอบ 7 ปี เช่นเดียวกับตลาดอเมริกาและยุโรป แม้ว่าจะมีการขยายตัวในตลาดประเทศที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยยอดขายที่หายไปในตลาดหลัก ๆ เหล่านี้ ยอดขายที่แผ่วลงดังกล่าว ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่บริษัทรถยนต์ทำกำไรได้น้อยลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มเทงบให้กับการวิจัยและพัฒนารถยนต์แห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ เหล่านี้เป็นปัญหาที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างต้องเผชิญอยู่แล้ว โดยยังไม่ต้องมีเรื่องของสงครามการค้าและกำแพงภาษีเข้ามาซ้ำเติม

แต่เมื่อท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งออกมาชัดเจน ว่า กำลังพิจารณาจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งอาจจะสูงได้ถึง 25% ในอนาคตอันใกล้นี้ แรงกดดันต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจึงเพิ่มมากขึ้นแบบทบทวีคูณ เพราะเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการนำเข้าก็พุ่งแรง จนเชื่อว่าจะทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์คันใหม่ลดวูบลงอย่างแน่นอน และผู้ซื้ออาจหันเข้าหาตลาดรถยนต์มือสองมากขึ้นกว่าเดิม


➣ 90 วันแห่งการเจรจาต่อรอง

สถิติของทางการสหรัฐฯ ชี้ว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 สหรัฐฯ นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ารวม 158,600 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในกลุ่มข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement หรือ USMCA ที่มาแทนข้อตกลงความร่วมมือเดิม ภายใต้ชื่อ 'นาฟต้า') และได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีต่อกัน แต่ตลาดนำเข้าอันดับถัด ๆ ไปนั้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และอังกฤษ ตามลำดับ ซึ่งล้วนจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบอาจมากหรือน้อยแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่า แต่ละประเทศจะสามารถเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้มากน้อยเพียงใด ประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า เขาชื่นชอบการใช้มาตรการภาษี และขณะเดียวกันก็ชอบให้ประเทศคู่ค้าเข้ามาเจรจาต่อรองด้วย

 

[caption id="attachment_391633" align="aligncenter" width="471"] (คลิกที่ภาพเพื่อขยายขนาดใหญ่ขึ้น) (คลิกที่ภาพเพื่อขยายขนาดใหญ่ขึ้น)[/caption]

นักวิเคราะห์มองว่า 90 วัน ที่ผู้นำสหรัฐฯ จะใช้ในการพิจารณารายงานข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์นั้น แท้จริงแล้ว คือ ช่วงเวลาที่เปิดให้มีการวิ่งล๊อบบี้ ทั้งจากฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้านการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่เปิดให้ประเทศคู่ค้าที่จะได้รับผลกระทบเข้ามาเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทยนั้น นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากทั่วโลกเป็น 25% ไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย แต่คงไม่มากนัก เพราะตลาดอเมริกาเหนือ เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดหลักของไทย (จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ในปี 2561 ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไปสหรัฐฯ มูลค่า 29,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจากปีก่อน 9.8% โดยตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 3.1% ของการส่งออกในภาพรวม) อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อการนำเข้า-ส่งออกของรถยนต์ของทั่วโลกในอนาคต

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503