"23 ผู้สมัคร ส.ส." แห่ร้องศาลถูกตัดสิทธิลงสนาม

18 ก.พ. 2562 | 12:41 น.
ผู้สมัคร ส.ส. 23 ราย ถูกตัดสิทธิ แห่ร้องศาลฎีกา พบส่วนใหญ่เป็นคดีพรรคการเมืองไม่จัดตั้งสาขา ศาลเตรียมพร้อมตุลาการ-บุคลากรรองรับ คาดมีฟ้องคดีทุจริตเลือกตั้งจำนวนมาก

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยสิทธิ ในวันที่ 16 ก.พ. 2562 จำนวน 7 สำนวน เเละวันที่ 17 ก.พ. 2562 จำนวน 16 สำนวน รวม 23 สำนวน

แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการ เเต่ศาลชั้นต้น ซึ่งมีหน้าที่รับคำร้องเเละไต่สวนก่อนที่จะส่งศาลฎีกาวินิจฉัย ก็ได้เปิดทำการในวันหยุด เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเลือกตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็วเเละมีประสิทธิภาพ

คดีที่ยื่นคำร้องเข้ามาทั้ง 2 วัน ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีพรรคการเมืองที่ผู้ร้องสังกัดเป็นสมาชิกไม่ดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือ ตัวเเทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ตามมาตรา 145 พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2560 ส่วนที่เหลือเป็นกรณีเป็นสมาชิกพรรคเดียวน้อยกว่า 90 วัน (ลาออกจากพรรคเดิมแล้วมาเป็นสมาชิกพรรคใหม่), ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเลย เเละเป็นสมาชิกพรรคมากกว่า 1 พรรคการเมือง ขณะนี้ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

 

[caption id="attachment_390894" align="aligncenter" width="500"] "23 ผู้สมัคร ส.ส." แห่ร้องศาลถูกตัดสิทธิลงสนาม เพิ่มเพื่อน [/caption]

โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า คดีเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา จะมีลักษณะคดีดังเช่นกรณีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กกต. รับสมัคร หรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กกต. รับสมัครหรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร

กรณีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ กกต. ที่ให้ถอนการรับสมัครตามคำร้องของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครอื่น เเละกรณีผู้อำนวยการเขตการเลือกตั้งขอให้ถอนชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในการเลือกตั้งเข้ามาหลายรูปเเบบเเละฟ้องในปริมาณมาก ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้เตรียมความพร้อม โดยอบรมเเละเเจกคู่มือปฏิบัติราชการของตุลาการส่วนวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อใช้เป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาและศาลชั้นต้นที่ได้รับมอบหมายให้ไต่สวนพยานแทน

รวมถึงความพร้อมในส่วนของบุคคลากรและเครื่องมือสื่อสารในการติดต่อระหว่างศาล เพื่อรองรับคดีเลือกตั้งที่จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลฎีกา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องอาคารสถานที่ งบประมาณ อัตรากำลัง รวมถึงจะใช้เทคโนโลยีในการประชุมซักซ้อมความเข้าใจให้แก่บุคลากรในศาลยุติธรรม เพื่อให้พร้อมที่สุดในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่ายด้วยความรวดเร็ว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว