จำนน พ.ร.บ.ข้าว เลิกรับรองพันธุ์ ชาวนาค้านต่อ

18 ก.พ. 2562 | 12:43 น.
180262-1931



กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว ยอมถอยปมร้อนขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ โดยไม่ต้องรับรองพันธุ์ แต่ยังคงควบคุมให้โรงสีต้องแสดงใบหลักฐานการซื้อขายข้าว ... ทีดีอาร์ไอเชื่อประเทศไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ ชาวนาเดินหน้าค้านต่อ

ร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. กลายเป็นประเด็นร้อนหลังนักวิชาการและผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ชาวนาผู้ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวไปจนถึงผู้ส่งออกข้าวออกมาคัดค้าน พร้อมเสนอให้ สนช. คว่ำกฎหมายฉบับนี้


rice-1549130_1280

กฎหมายฉบับนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2560 เริ่มตั้งแต่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยการผลิตในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สนช. มีแนวคิดร่างกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตมีความมั่นคง มีกลไกการควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ


02-3445-180262-1944

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการมีหลายประเด็นที่ถูกคัดค้าน โดยเฉพาะมาตรา 19 เกี่ยวกับการจดทะเบียนและขึ้นทะเบียน ที่ต้องมีผู้ตรวจสอบคุณสมบัติเปิดช่องให้มีการเข้ามาหาผลประโยชน์ มาตรา 27/1, มาตรา 27/3 ที่กำหนดว่าจะต้องจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่รับรองเท่านั้น หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ของไทย รวมถึงการกำหนดให้โรงสีเก็บหลักฐานการซื้อขายข้าวเปลือก เป็นต้น

 

[caption id="attachment_390894" align="aligncenter" width="500"] จำนน พ.ร.บ.ข้าว เลิกรับรองพันธุ์ ชาวนาค้านต่อ เพิ่มเพื่อน [/caption]

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ได้เข้าพบ พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ รองประธาน กมธ. คนที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... ร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญอีก 2 คน ที่มาจากตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงพาณิชย์ รับปากว่าจะตัดมาตราที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรออกไป ได้แก่ มาตรา 27/1, มาตรา 27/3

"ร่างกฎหมายฉบับนี้ประเมินแล้วไม่มีประโยชน์ ยังโชคดีที่ไม่เป็นลบ เพราะสามารถแก้เรื่องที่เป็นลบออกไปได้ แต่จะต้องตามดูว่า โรงสีจะโดนเล่นงานหรือไม่ เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป จะมาตรวจสอบย้อนกลับแบบประมงผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยู ผมไม่คิดว่า ประเทศชาติจะได้อะไรจากกฎหมายฉบับนี้ ทำได้แค่เพียงไม่ให้เกิดความเสียหายก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว"

 

[caption id="attachment_391144" align="aligncenter" width="503"] กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[/caption]

สอดคล้องกับ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากรักษาการอธิบดีกรมการข้าว ว่า ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและตัดมาตราบัญญัติเรื่องการคุ้มครองพัฒนาพันธุ์ข้าว หรือ จำหน่ายพันธุ์ข้าว ที่ไม่ถูกต้องเคร่งครัดไปเรียบร้อยแล้ว ขอให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องดังกล่าวนี้ หากตัดมาตรานี้ไปแล้ว เชื่อวาจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ ทำให้อาชีพชาวนาได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยว่า ร่างกฎหมายนี้การปรับแก้ไขมา 3-4 รอบแล้วอย่างไม่เป็นทางการ เห็นว่า ยังขัดบริบทในการค้าขายข้าว ดังนั้น ทางสมาคมขอเชิญคณะกรรมการประสานงาน กมธ. มาอธิบายการประกอบธุรกิจของโรงสี ตั้งแต่การรับซื้อข้าวจากลานท่าข้าว จากลานท่าข้าว ชาวนาขายข้าวให้กับท่าข้าว เป็นอย่างไรจะเห็นขั้นตอน แล้วเข้าใจได้ดีว่า ข้าวที่ซื้อสุดท้ายมาคละกองรวมกันหมด โรงสีไม่ทราบเลยว่าเป็นข้าวมาจากชาวนาคนไหน ใครมาขายก็ซื้อหมด และปกติโรงสีก็ส่งหลักฐานให้กระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ให้กรมการข้าวบูรณาการช่วยส่งเอกสารระหว่างกัน เพื่อไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการ

 

[caption id="attachment_391146" align="aligncenter" width="503"] สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย[/caption]

ขณะที่ นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ยังไม่มั่นใจว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการแก้ไข พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยร่างกฎหมายที่จะเสนอให้ สนช. พิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 เพื่อความโปร่งใส ไม่เช่นนั้นจะไม่ถอยเด็ดขาด

พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันในประเด็นที่ประชาชนมีข้อสงสัย กรณีการแก้ไขมาตรา 27/1 ที่ห้ามจัดจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองจดทะเบียนจากกรมการข้าวนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ตามปกติ แม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว แต่ยืนยันว่า การขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เนื่องจากการรับรองจะทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้จำหน่ายข้าวในอนาคต

……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,445 วันที่ 17 - 20 ก.พ. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ความจริงเรื่อง พ.ร.บ.ข้าว" ผ่านมุมมองอัยการธนกฤต
ลุ้น สนช. ชี้ขาด พ.ร.บ.ข้าว ผ่าน-ถูกคว่ำกลางสภา

เพิ่มเพื่อน 595959859