หั่นงบ-ลดโอที "เศรษฐกิจทรุด"

18 ก.พ. 2562 | 07:49 น.
เอกชนตั้งการ์ดรับมือเศรษฐกิจถดถอย-ค้าโลกทรุด สงครามการค้ายื้อ บาทแข็ง การเมืองแรง ค่าจ้างจ่อขยับ สั่งลดโอที หั่นงบลงทุน หันพึ่งตลาดภายใน อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ยาง การ์เมนต์ ทวนเป้าส่งออกหลังผ่านพ้นไตรมาสแรก

ภาคธุรกิจกังวลปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า กระทั่ง พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2551 ฟันธงเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปล่อยปีนี้

ส่วนในประเทศเจอทั้งเงินบาทแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค ค่าจ้างแรงงานที่จ่อปรับขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งปะทุจุดเดือด ต่างงัดแผนรับมือแล้ว

 

[caption id="attachment_390893" align="aligncenter" width="503"] ©DavidRockDesign ©DavidRockDesign[/caption]

อิเล็กทรอนิกส์ลดโอที

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า สินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน มาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึง ณ ปัจจุบัน จากไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตให้กับจีน เมื่อสินค้าจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย เวลานี้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวรับมือ โดยการหาทางลดต้นทุนในทุกด้าน เช่น การลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) การต่อรองราคาซัพพลายเออร์ที่นำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปป้อนให้กับบริษัท เช่น เหล็ก ชิ้นส่วนพลาสติกต่าง ๆ เพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกลง

 

[caption id="attachment_390891" align="aligncenter" width="373"] กนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)[/caption]

"เดิมมีผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของจีนบางราย จะมาจ้างไทยผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ แต่พอมีข่าวจะเลื่อนเส้นตายการเจรจาออกไป ทางจีนก็ขอคิดดูก่อน ทั้งนี้ ตัวเลขในปี 2561 ไทยส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วโลก 2.00 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ที่ส่งออก 2.03 ล้านบาท หรือลดลง 1.3% จากเป้าหมายตั้งไว้ขยายตัว 7% ส่วนปี 2562 ตั้งเป้าขยายตัวที่ 6.5% ซึ่งจะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้งหลังผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว"

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามการค้าเป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุดต่อการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทย เพราะมีผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกถดถอย ส่งผลให้ปีนี้ทางกลุ่มได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 1,100,000 คัน ลดลงจากปีก่อน ที่ส่งออกได้ 1,140,000 คัน คงต้องติดตามสถานการณ์ผ่านไตรมาสแรกปีนี้ไปแล้ว ว่า จะปรับเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งค่ายรถยนต์คงมีแผนสำรองไว้แล้วว่าจะต้องปรับอย่างไร

 

[caption id="attachment_390894" align="aligncenter" width="500"] หั่นงบ-ลดโอที "เศรษฐกิจทรุด" เพิ่มเพื่อน [/caption]

ยางลดส่งออก-รุกตลาดใน

ขณะที่ นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย มองว่า ปัจจัยเสี่ยงจากในประเทศจะมีผลกระทบกับการผลิตและการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ของไทยในปีนี้ มากกว่าปัจจัยภายนอก ได้แก่ 1.เงินบาทที่แข็งค่ามากกระทบต่อขีดแข่งขันส่งออก 2.ค่าแรงขั้นต่ำที่เตรียมจะประกาศปรับขึ้นอีกในเดือน เม.ย. นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น และ 3.การเมืองไทยที่กำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง หากมีความวุ่นวายหรือไม่สงบเกิดขึ้น จะมีผลกระทบด้านจิตวิทยา ทำให้คู่ค้าย้ายฐานสั่งซื้อได้ ในปี 2562 สมาคมตั้งเป้าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มขยายตัวที่ 5% (จากปี 2561 ส่งออก 2,469 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งจะมีการทบทวนเป้าหมายอีกครั้ง หลังผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว

 

[caption id="attachment_390892" align="aligncenter" width="367"] ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย[/caption]

นายหลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทตั้งเป้าส่งออกยางพาราปีนี้ 5 แสนตัน มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ทั้งปริมาณและมูลค่า ซึ่งต้องจับตาใกล้ชิดเรื่องสงครามการค้า ค่าเงินบาท และการเมืองในประเทศ จะพัฒนาไปในทิศทางใด แผนรับมือความเสี่ยงปีนี้ บริษัทจะลดสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปจีนลง จากเดิมสัดส่วน 45% เหลือ 40% และหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่ม เพิ่มสัดส่วนทำตลาดในประเทศจาก 10% เป็น 20% ผ่านโรงงานผลิตภัณฑ์ยางที่มีต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้น

ด้าน นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว บางจากได้เตรียมตัวตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยปรับลดงบลงทุนใหม่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยปรับลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน โครงการลงทุนจะพิจารณาตามลำดับความสำคัญ ที่เร่งด่วนจะยังเดินหน้าตามแผน ส่วนที่ยังไม่เร่งรีบก็อาจชะลอไว้ก่อน และยังคงนโยบายรัดเข็มขัดตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,445 วันที่ 17 - 20 ก.พ. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรุงไทยมองจีดีพีปีนี้โต 4.1% ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจปีนี้โต 3.5-4.5%


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว