ปลัดสธ.ชื่นชมระบบดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินพื้นที่สูง

18 มี.ค. 2559 | 06:46 น.
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมระบบการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินในพื้นที่สูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้การส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน ลดระยะเวลาเดินทางจาก 5 ชั่วโมงเหลือ 30-45 นาที อัตรารอดชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด บาดเจ็บสมอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 - 50

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดอาคารผู้ป่วย 120 เตียงและแพทย์แผนไทย (อาคาร 50 ปี) โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาระบบบริการ เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดเวลาส่งต่อ โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง การเดินทางยากลำบาก ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก บาดเจ็บรุนแรงหรือทางสมอง มีทางด่วนให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโดยเร็ว และระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อภายในเขตบริการสุขภาพ ใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศยาน (Sky Doctor) ประสานส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ และบริษัทกานต์ นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด  ผลดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 – 2558 เขตสุขภาพที่ 1 ส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน 114 ราย คิดเป็นร้อยละ 53 ของทั้งประเทศ อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

ด้านนายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ มี ศักยภาพในการให้บริการยาละลายลิ่มเลือด ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองตีบ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยลง พร้อมจัดระบบปรึกษาแพทย์เชี่ยวชาญ และระบบส่งต่อทางอากาศยาน โดยผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดจะส่งต่อไปยังรพ.มหาราชเชียงใหม่ ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือการบาดเจ็บทางสมอง จะส่งไปผ่าตัดที่รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ หรือให้แพทย์เดินทางมาผ่าตัดให้ที่รพ.ศรีสังวาลย์ ที่ผ่านมาส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทางอากาศยานปีละ 15-16 ราย ในปีงบประมาณ 2558 ส่งต่อ 16 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้บาดเจ็บรุนแรงทางสมอง ช่องอกและเส้นเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับปีงบประมาณ 2559 ส่งต่อแล้ว 7 ราย การดำเนินงานได้ผลดี ช่วยลดระยะเวลาส่งต่อผู้ป่วยทางรถยนต์จาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 45 นาที เพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ป่วยได้ร้อยละ 40 – 50

สำหรับอาคารผู้ป่วย 120 เตียงและแพทย์แผนไทย (อาคาร 50 ปี) สร้างทดแทนอาคารหลังแรกที่ใช้มา 50 ปี เริ่มก่อสร้าง 16 กุมภาพันธ์ 2555 แล้วเสร็จ 16 สิงหาคม 2557  วงเงินงบประมาณ 86,394,700 บาท ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กต้านแผ่นดินไหวขนาด 6 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 4,746 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร ประกอบด้วย ชั้น 1 งานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ให้บริการนวด อบสมุนไพร ฝังเข็ม ชั้น 2 เป็นหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง 30 เตียง ชั้น 3 หอผู้ป่วยหญิงรวม 30 เตียง ชั้น 4หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 30 เตียง ชั้น 5 และ 6 เป็นหอผู้ป่วยพิเศษ ชั้นละ 12 ห้อง