ชะตากรรม 14 กรรมการบริหาร "ทษช." ลุ้นตัดสิทธิการเมืองชั่วชีวิต!!

17 ก.พ. 2562 | 10:46 น.
"ไทยรักษาชาติ" (ทษช.) นับถอยหลังลุ้นคำวินิจฉัย "ยุบพรรค" เมื่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" รับคำร้องของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) ไว้พิจารณาตามฐานความผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92

กรณีการเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกฯ อัน "เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

เช่นเดียวกับ "14 กรรมการบริหารพรรค ทษช." ที่ต้องลุ้นผลของคดีนี้ อันประกอบด้วย 1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค, 2.นายฤภพ ชินวัตร, 3.นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร, 4.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์, 5.นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล, 6.นายรุ่งเรือง พิทยศิริ (อ้างได้ลาออกแล้ว)

7.นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย, 8.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค, 9.นายต้น ณ ระนอง, 10.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา, 11.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์, 12.นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ, 13.นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์, 14.นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์


Screen Shot 2562-02-17 at 12.11.35

นายอุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันตรงกันว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (5) และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคท้ายที่ระบุว่า

"เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น"

เมื่อไม่มีการกำหนดกรอบเวลา เท่ากับว่า "กรรมการบริหารพรรค" ที่ถูกศาล รธน. สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น ต้องถูก "ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต" เมื่อถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจึงเท่ากับถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย เนื่องจากการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ

ส่วนมาตรา 94 ระบุว่า เมื่อศาล รธน. มีคำสั่งยุบพรรคใดแล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซํ้า หรือ พ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น

และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเหตุดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ

"บทบัญญัตินี้กำหนดกรอบเวลา 10 ปีนั้น เป็นกรอบเวลาสำหรับข้อห้ามในการทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง" อดีต กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ระบุ


A9371118-9307-4D63-A801-9B7951C3188C

ทั้งนี้ อดีตที่ผ่านมา ศาล รธน. เคยมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองที่น่าสนใจ คือ กรณียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 จากการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549 ไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง เพื่อหนีเกณฑ์ 20% ส่งผลให้พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยถูกยุบไปด้วย ทำให้กรรมการบริหาร (กก.บห.) ทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ถัดมายุบ "พรรคพลังประชาชน" ในวันที่ 26 ก.พ. 2551 เมื่อ กกต. มีมติให้ใบแดง นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค ที่เรียกกำนัน 10 คน ใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ให้ไปพบที่กรุงเทพฯ ก่อนเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. 2550 และมอบเงินให้คนละ 20,000 บาท

โดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธเป็นเวลา 5 ปี และศาล รธน. วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห.พรรค รวม 37 คน เป็นเวลา 5 ปี

คดียุบพรรคชาติไทย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาล รธน. สั่งยุบพรรค เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการทุจริตซื้อเสียง โดย นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทย และอดีตว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เก็บบัตรประชาชนชาวบ้าน และเตรียมจ่ายเงินให้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ กก.บห. 43 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาล รธน. สั่งยุบพรรค หลัง กกต. ให้ใบแดง นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค เนื่องจากมีพฤติการณ์แจกทรัพย์สินอันเป็นการกระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง 2550 ส่งผล กก.บห. 29 คน ถูกตัดสิทธิเป็นเวลา 5 ปี

จากคดียุบพรรคข้างต้น ส่งผลให้มี กก.บห.พรรคต่าง ๆ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น 220 คน

"ไทยรักษาชาติ" จะเป็นอีกพรรคในปี 2562 ที่ต้องถูก "ยุบ" และ กก.บห. จะถูกสั่งลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง "ตลอดชีวิต" หรือไม่ ไม่เกิน 24 มี.ค. นี้ ได้รู้กัน ...

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,445 วันที่ 17-20 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-8