นับถอยหลัง 6 มีนาฯ ชี้ชะตา "ยุบ ทษช."

16 ก.พ. 2562 | 11:31 น.
คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินหน้าต่อเนื่องไม่มีสะดุด นับแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นัดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อวันอังคารที่ 12 ก.พ. 2562 วันรุ่งขึ้นก็ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92

บ่ายวันพฤหัสบดีที่ 14 ก.พ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมมีคำสั่งกำหนดขั้นตอนปฏิบัติหลังรับคำร้องไว้พิจารณาทันที คือ

1.แจ้งผู้ร้อง หรือ คณะกรรมการ กกต. ทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา

2.ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง หรือ คณะกรรมการบริหารพรรค ทษช. เพื่อให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง โดยศาลสั่งชัดเจนว่า มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งต้องทำภายในวันที่ 20 ก.พ. นี้

3.ศาลกำหนดวิธีส่งหมาย ว่า ให้เจ้าหน้าที่ศาลไปส่ง ณ ที่ทำการพรรคผู้ถูกร้อง (ทษช.) หากไม่มีผู้รับ ให้ปิดหนังสือนำส่งและสำเนาคำร้องไว้ ที่เรียกกันว่า ปิดหมายศาล และให้ถือว่าได้ส่งโดยชอบ นั่นคือ ถือว่าผู้ถูกร้องได้รับหมายแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้ดำเนินการไปปิดหมายตามคำสั่งศาลในวันเดียวกัน นั่นคือ ถือว่ากรรมการบริหารพรรค ทษช. ได้รับแจ้งแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2562 นั่นเอง

4.ศาลมีคำสั่งนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 27 ก.พ. 2562 เวลา 13.30 น.


ภาพไทม์ไลน์ยุบ ทษช.

จากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไทม์ไลน์การพิจารณาคดียุบพรรค ทษช. ในขั้นตอนของศาล รธน. เริ่มขึ้นแล้ว และจะเดินต่อไปถึงจุดชี้ชะตาในวันอ่านคำพิพากษา ว่า ศาล รธน. จะวินิจฉัย "ยุบพรรค ทษช." หรือไม่ และชะตากรรมของกรรมการบริหารพรรค ทษช. จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เริ่มนับถอยหลังแล้ว

ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล รธน. กำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลมีอำนาจค้นหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทําคําวินิจฉัยประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่า 7 คน

ขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อศาลนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.พ. 2562 โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาถึงศาลก่อนแล้วนั้น ขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาล รธน. ที่ผ่านมา ศาลจะได้ให้คู่กรณีตรวจสอบข้อกล่าวหา คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมถึงกำหนดประเด็นการพิจารณาคดี และจะมีคำสั่งนัดไต่สวนคดีครั้งแรกต่อไป

โดยก่อนจะนัดพิจารณาคดีครั้งแรกนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ศาลอาจกําหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนก็ได้ แต่ต้องแจ้งคู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

เมื่อศาลประกาศกําหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาของศาล รธน. บัญญัติว่า ให้ส่งสําเนาประกาศให้แก่คู่กรณีไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันนัด ส่วนกําหนดวันนัดไต่สวนครั้งต่อไปให้เป็นไปตามที่ศาลกําหนด เพื่อให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานตลอดจนพยานบุคคลขึ้นเบิกความต่อไป

ในขั้นตอนการไต่สวนนี้ไม่มีกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนไว้ ขึ้นกับแต่ละคดี ว่า จะมีพยานหลักฐานและประเด็นต่อสู้เข้าสู่การไต่สวนของศาลมากน้อยเพียงใด โดยศาลอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปี หลายเดือน หรือเป็นสัปดาห์ก็ได้ ในการพิจารณาวินิจฉัยแต่ละคดี

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า หากศาลเห็นว่า คดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย โดยไม่ทำการไต่สวน หรือ ยุติการไต่สวนก็ได้

ขั้นตอนคดียุบ ทษช. ในศาล รธน. ได้นับหนึ่งไปแล้ว ในการที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้อง กกต. ไว้พิจารณา และกำหนดกรอบเวลา 7 วัน ให้กรรมการบริหารพรรค ทษช. ซึ่งเป็นผู้ถูกร้อง ได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน ดังกล่าว

พร้อมทั้ง สั่งนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปวันที่ 27 ก.พ. 2562 อยู่ในกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันนัด

น่าจับตาว่า การพิจารณาคดีนัดวันที่ 27 ก.พ. 2562 ที่ศาลได้รับคำร้องของผู้ร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องอยู่ในมือพร้อมแล้วนั้น ศาลจะสั่งให้มีการไต่สวน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะกำหนดตรวจพยานหลักฐานของคู่กรณีหรือไม่


14 กก.บห.ไทยรักชาติ

หากศาลมีคำสั่งนัดไต่สวน หรือ โดยเฉพาะให้ตรวจพยานหลักฐาน ก็จะใช้เวลาในการเตรียมไต่สวนคดีเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องใช้เวลาในขั้นตอนนี้อีกไม่ตํ่ากว่า 15 วัน เพื่อให้ส่งบัญชีพยานหลักฐานให้ศาลไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนครบกำหนด เพื่อที่ศาลจะได้ให้บัญชีพยานหลักฐาน แต่หากศาลเห็นคำร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานมีเพียงพอจะวินิจฉัยได้ ในวันที่ 27 ก.พ. 2562 หากเป็นเช่นนั้น ศาลอาจสั่งนัดคู่กรณีมาฟังการวินิจฉัยได้ โดยอาจเป็นวันที่ 6 มี.ค. 2562 ในสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้องค์คณะตุลาการได้เขียนคำวินิจฉัยส่วนตน เพื่อพร้อมเสนอที่ประชุมองค์คณะตุลาการ และจัดทำคำวินิจฉัยของศาล ก่อนการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ต่อ

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคไทยรักษาชาติแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องถึง 14 กรรมการบริหารพรรค ที่จะต้องลุ้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพตามมาอีกด้วย

อันประกอบด้วย 1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค, 2.นายฤภพ ชินวัตร, 3.นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร, 4.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์, 5.นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล, 6.รุ่งเรือง พิทยศิริ (อ้างว่าลาออกแล้ว), 7.จุลพงศ์ โนนศรีชัย, 8.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค, 9.นายต้น ณ ระนอง, 10.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา, 11.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์, 12.นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ, 13.นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ และ 14.นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์


| รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3445 หน้า 14 ระหว่างวันที่ 17-20 ก.พ. 2562

| โดย ... ทีมข่าวการเมือง

011061-1312