บล.กรุงศรีผนึกฟินเทคเสริมแกร่ง

16 ก.พ. 2562 | 23:36 น.
 

ลุยดิจิทัลแพลตฟอร์ม หวังเพิ่มแชร์โบรกฯ3%

บล.กรุงศรีฯ ชูกลยุทธ์ “ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านลงทุนครบวงจร” จับมือกลุ่มฟินเทคเสริมศักยภาพการให้บริการ เพิ่มมาร์เก็ตโบรกเกอร์ไม่ตํ่ากว่า 3% ติดอันดับ 1 ใน 15 พร้อมดันรายได้ธุรกิจ IB ในปีนี้เติบโต 10% จากงานในมือ 2-5 ดีล

นายอุดมการ อุดมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี 2562 ว่าบริษัทจะมุ่งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับการลงทุนแบบครบวงจรผ่านช่องทางดิจิทัล โดยจะขยายความร่วมมือกับกลุ่มฟินเทคเพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและขยายฐานลูกค้าให้เติบโตต่อเนื่อง

ในด้านธุรกิจปีนี้  บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้ก้าวขึ้นมาติด 1 ใน 15 ของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ (จากปัจจุบันอยู่ระดับที่ 19) หรือมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นไม่ตํ่ากว่า 3% จากปี 2561 อยู่ที่ 2.31% โดยจะพัฒนาด้านบริการทั้งกลุ่มรายย่อยและสถาบัน การปรับปรุงคุณภาพบทวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์ทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย พร้อมทั้งขยายธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มนักลงทุนสถาบันผ่านบริการที่เหนือกว่า และพัฒนาระบบพื้นฐานออนไลน์เพื่อส่งเสริมธุรกิจ ตั้งเป้าเพิ่มบัญชีใหม่ 5,000-6,000 บัญชี จากที่มีอยู่ 40,000-50,000 บัญชี  จำนวนนี้เป็นบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว 18,000 บัญชี

[caption id="attachment_389984" align="aligncenter" width="335"] อุดมการ อุดมทรัพย์ อุดมการ อุดมทรัพย์[/caption]

ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB)ในปี 2562  บริษัทมีดีลที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 2-5 บริษัท มูลค่าต่อดีลประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาท จำนวนนี้ มี 2 บริษัทที่ บล.กรุงศรีฯ เป็นแกนนำในการประกันการจัดจำหน่าย คาดว่าธุรกิจ IB ในปีนี้จะสร้างรายได้โต 10% จากปี 2561 ที่โตเพียง  5-6% เพราะมีหลายดีลได้เลื่อนออกไป  อย่างไรก็ตามหลังจากที่บริษัทได้เริ่มรุกธุรกิจ IB อย่างจริงจังเมื่อปี 2560  พบว่ามีปริมาณธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดย 2 ปีที่ผ่านมา (2560- 2561) มีจำนวนถึง 16 บริษัท  โดยบริษัทได้เป็นผู้ร่วมรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นที่เสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 15 บริษัท

ทั้งนี้บล.กรุงศรีฯประสบความสำเร็จในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ โดยกลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ มีการขยายธุรกิจนักลงทุนสถาบันและวาณิชธนกิจ ในช่วงปี 2558-2561 บริษัทมีอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยที่ 9% ต่อปี จากที่มีส่วนแบ่งตลาดในปี 2558 เพียง 1.63% เพิ่มมาเป็น 2.31% ในปี 2561 ขณะที่ด้านธุรกิจสถาบัน ส่วนแบ่งตลาดเติบโตเฉลี่ยปีละ 20%  และรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของธุรกิจสถาบันมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 40% ต่อปี

“บล.กรุงศรีฯ มีจุดแข็งด้านธุรกิจสถาบัน โดยสัดส่วนการเทรดมาจากลูกค้าสถาบันกว่า 60% และอีกกว่า 35% เป็นรายย่อย บริษัทตั้งเป้าอยากให้ส่วนแบ่งการตลาดของลูกค้าสถาบันขึ้นมาเป็นท็อป 5 ของอุตสาหกรรม ส่วนรายย่อย จะเน้นไปเรื่องของดิจิทัล เวลธ์ แพลตฟอร์ม และในเรื่องของเวลธ์ แมเนจเมนต์มากขึ้น”

นายอุดมการ กล่าวถึงกลยุทธ์ด้านดิจิทัล แพลตฟอร์มว่า บริษัทยังคงเดินหน้าต่อด้วยการมุ่งพัฒนา Ecosystem ของระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบ Application Programming Interface (API) เพื่อรวมระบบการซื้อขายทุกๆ ผลิตภัณฑ์การลงทุนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียว มีการปรับโครงสร้างทีมอีบิสิเนส และนำกระบวนการทำงานในรูปแบบ Agile เข้ามาใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ในเวลาอันสั้น รวมทั้งการรวบรวมบทวิเคราะห์ และเครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนและเพิ่มพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น Finnomena ด้านการจัดพอร์ตการลงทุน Deepscope ด้าน Algorithm StockRadars ด้านข้อมูลประกอบการลงทุน โดยบล.กรุงศรีฯ จะเป็นแกนกลางในการนำแพลตฟอร์มด้านการลงทุนมารวมไว้ด้วยกันเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ในที่เดียว รวมทั้งแพลตฟอร์มด้านการลงทุนที่ทางบริษัทจะได้มีการพัฒนาขึ้นเองโดยการอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกบริษัท นับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วขึ้น

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39  ฉบับ 3,445 วันที่ 17-20  กุมภาพันธ์ 2562

595959859-10-503x60