‘กรุ๊ปลีส’ ลุยแก้หนี้รักษาลูกค้าเดิม

17 ก.พ. 2562 | 07:45 น.
รอเลือกตั้งปักหลักรุกครึ่งหลัง

สัมภาษณ์พิเศษ

บริษัทกรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ GL บริษัทผู้นำด้านการให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์หลากหลายยี่ห้อที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยยาวนานกว่า 35 ปี มีพอร์ตสินเชื่อปัจจุบันประมาณ  5,000 ล้านบาท  จำนวนนี้เป็นเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือ 1 หรือป้ายแดง  4,500 ล้านบาท และมือ 2 อีกประมาณ 400 ล้านบาท  ผลประกอบการ  ณ ไตรมาส 3/2561 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 104.64 ล้านบาท  ซึ่งสามารถทำกำไรติดต่อกัน 4 ไตรมาส แม้จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 17%  จากขนาดพอร์ตโฟลิโอที่ลดลงก็ตาม

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2562 นายมุเนะโอะ ทาชิโร่ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ. กรุ๊ปลีส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่าเป้าเติบโตอย่างเป็นทางการบริษัทไม่ได้ตั้งไว้   โดยจะดูจากทางผู้ผลิตเป็นหลัก ซึ่งแจ้งมาว่าไม่ได้เพิ่มการผลิตมากเหมือนปีที่แล้ว บางแห่งตั้งเป้าลดลง 1% ดังนั้นบริษัทจะรอดูสถานการณ์ไปก่อนในครึ่งปีแรกว่าเศรษฐกิจไทยและผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร หากเศรษฐกิจดีขึ้น บริษัทจะเพิ่มยอดสินเชื่อเติบโต 5-10% และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่หากออกมาไม่ดีก็อาจปรับตัวเลขลง ซึ่งเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว และในระหว่างรอดูสถานการณ์ในครึ่งปีแรก บริษัทจะมุ่งพัฒนาคุณภาพลูกค้า   รุกตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือ 2 และดูแลฐานลูกค้าเก่า

[caption id="attachment_389977" align="aligncenter" width="503"] มุเนะโอะ ทาชิโร่ มุเนะโอะ ทาชิโร่[/caption]

เขากล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจเช่าซื้อ ดูเหมือนหนี้เสีย (NPL) จะเพิ่มขึ้น ตัวเลข ณ  เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา หนี้เสียของกรุ๊ปลีสพุ่งขึ้น 5-6% แต่เทียบแล้วเรายังน้อยกว่าคู่แข่งที่ขึ้นเป็นเลข 2 หลัก แต่ถึงแม้หนี้เสียของ GL จะอยู่ที่ 5-6% แต่หากดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็จะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทจึงได้หาวิธีที่จะทำให้คุณภาพลูกค้าดีขึ้น ขั้นตอนแรกก็โดยการคัดกรองอย่างเข้มข้น

“เราอยากเห็นหนี้เสียในปีนี้ลดลง 1% หรืออยู่ที่ระดับ4-5% หากทำให้หนี้เสียที่ดีขึ้นทุก 1% จะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 120 ล้านบาท  และหากสามารถลดค่าใช้จ่ายบางตัวลง เช่นค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย จะทำให้กำไรของบริษัทในปีนี้ดีขึ้น”

นอกจากนี้  หลังจากที่กรุ๊ปลีส ได้ซื้อกิจการ บริษัท ธนบรรณ จำกัด เมื่อปี 2557 ซึ่ง“ธนบรรณ” ถือเป็นเจ้าแรกในตลาดที่มีจุดแข็งเรื่องเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือ 2 โดยมีพอร์ตสินเชื่อกว่า 400 ล้านบาทและใช้เวลาในช่วง 4 ปีพัฒนาโปรดักต์ภายใต้บริษัทลูกแห่งนี้ บริษัทตั้งเป้าเติบโตเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือ 2 ปีนี้ที่ 10% ซึ่งแม้พอร์ตสินเชื่อในส่วนนี้ยังน้อย แต่หากสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง  ก็จะช่วยเพิ่มผลประกอบการให้บริษัทในภาพรวมได้

“สำหรับเช่าซื้อรถมือ 2 บริษัทถือว่าประสบความสำเร็จ และให้มาร์จินดีกว่ารถมือ 1   ตัวอย่างหากลูกค้าซื้อรถมือ 1 มา และวันรุ่งขึ้นมาคืนรถเลย บริษัทจะขาดทุน 20% ถึงสูงสุด 40% ทันที (แล้วแต่ยี่ห้อรถ) เพราะต้องตีเป็นมือ 2 ทันที  และเทียบอัตราดอกเบี้ย Effective (ลดต้นลดดอก) มือ 1 อยู่ที่  36% ต่อปี  แต่มือ 2 อยู่ที่  42% ต่อปี อีกทั้งหนี้เสียในส่วนนี้เทียบตลาด บริษัทยังน้อยกว่าคู่แข่งมาก”

นายมุเนะโอะ กล่าวต่อว่า กลยุทธ์ธุรกิจปีนี้ บริษัทจะรุกตลาดเช่าซื้อจักรยานยนต์มือ 2 มากขึ้น  ซึ่งมีอีกหลายร้านที่บริษัทยังเข้าไม่ถึง ภายในเดือนนี้บริษัทจะออกเงื่อนไขที่จะช่วยให้ดีลเลอร์สามารถทำตัวเลขขายรถได้มากขึ้น  โดยการเพิ่มยอดจัดสินเชื่อ   เช่นเพิ่มยอดไฟแนนซ์ให้ร้านค้าเป็น 110% จากเดิมที่เป็น 100%  เพื่อที่ร้านค้าจะนำเงินส่วนที่เพิ่มนี้ไปช่วยลดดาวน์ให้ลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าผ่อนดาวน์น้อยลงกว่าเดิมได้ถึง 5-10% ทำให้การขายรถง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันจะพยายามรักษาลูกค้าเดิมให้อยู่กับเราได้นานๆ โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นออพชันเสริม  เช่นหากลูกค้าผ่อนครบปิดบัญชี ก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือให้ยื่นกู้ใหม่เพื่อซื้อรถ เฉลี่ยลูกค้ารายหนึ่งจะใช้บริการกับบริษัทถึง 8 ครั้งต่อ 1 ไอดี รวมถึงแผนขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ เช่นเมียนมาซึ่งเป็นตลาดใหม่ และแทบไม่มีหนี้เสีย โดยหลังจากที่บริษัทได้เข้าไปปล่อยกู้ไมโครไฟแนนซ์  ธุรกิจเติบโตถึง 11 เท่า จาก 2 ปีที่แล้วที่มีลูกค้าเพียง 1 หมื่นราย ขณะนี้มีถึง 1.1 แสนราย โดยอยู่ระหว่างประชุมแผนของบอร์ดบริหารที่จะกำหนดเป็นนโยบายต่อไป

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39  ฉบับ 3,445 วันที่ 17-20  กุมภาพันธ์ 2562

595959859-10-503x60