"สัญญาณบวก" เศรษฐกิจครึ่งหลังฟื้น!!

19 ก.พ. 2562 | 08:36 น.
กูรูประสานเสียงเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกอืด! เหตุฐานสูง เศรษฐกิจโลกชะลอ คาดเร่งตัวครึ่งหลังปี 62 ประเมินจีดีพีไตรมาส 4 ปี 61 ขยายตัว 3.3% ทั้งปีแตะ 4.1 ชี้ 3 ปัจจัย ฉุดส่งออก "การค้าโลก เงินบาทแข็ง และสต๊อกต่างประเทศสูง" ถ่วงเศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเงินบาทที่ยังเห็นทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากต้นปีที่เงินบาทแข็งค่าแล้ว 3.93% จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อประกอบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูงของไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว ซึ่ง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับว่า ความผันผวนจะยังคงอยู่ต่อไปและพร้อมจะเข้าดูแล แต่ระยะสั้นยังไม่พบการเก็งกำไรที่ผิดปกติ หรือ เคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ


MP20-3445-A

"เรื่องค่าเงินเป็นประเด็นอ่อนไหวเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน เมื่อเวลาเงินบาทแข็งหรืออ่อนจะมีทั้งคนได้และคนเสีย รวมทั้งเป็นประเด็นที่ถูกจับตา เราต้องระวังไม่ให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจจะถูกมาตรการกีดกัน สถานการณ์จะยิ่งแย่ลง" นายวิรไท ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่ามาตั้งแต่ปี 2561 โดยพบว่า ช่วง 6 เดือนหลังของปี เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลก ทำให้มองว่าจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2561 จากการส่งออกที่ชะลอลง และจะต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีนี้ด้วย ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2561 ในวันที่ 18 ก.พ. นี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2562 เงินบาทมีโอกาสแข็งค่า 4.1% โดยจะไปแตะที่ 31.20 บาทดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะไม่ว่าปัจจัยการเมือง เศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือ การหยุดขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ไม่สนับสนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ดังนั้น จังหวะนี้ผู้ประกอบการต้องป้องกันความเสี่ยง หรือ เริ่มคุยกับคู่ค้าใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขาย เพราะอาจเป็นความหวังมากเกินไป หากจะให้ทางการช่วยทั้งในแง่ของค่าเงิน หรือ กระตุ้นการส่งออก ซึ่งทำได้ "ยาก" ในขณะที่ การส่งออกทั่วโลกชะลอ

 

[caption id="attachment_389956" align="aligncenter" width="377"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

ทั้งนี้ ช่วงที่เฟดกำลังหยุดขึ้นดอกเบี้ยและดอลลาร์อ่อนค่านั้น จะเห็นการกู้เงินในสกุลเงินที่มีดอกเบี้ยตํ่าเพื่อไปลงทุนในสกุลเงินที่ดอกเบี้ยสูง หรือ Carry Trade โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market : EM โดยเห็นได้จากเดือน ม.ค. ที่ค่าเงิน EM เริ่มฟื้นตัว 3-5% ตามด้วยเฟดส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย หากภาวะนี้อยู่ต่อทั้งปี ผลตอบแทนจากแคร์รี่เทรดจะอยู่ในระดับสูง เช่น การลงทุนในตราสารหนี้บราซิลโอกาสจะได้รับผลตอบแทน 5.4% อาเจนตินา 9.3% เวเนซุเอลา 31%

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทยฯ มองว่า จีดีพีไตรมาส 4 ปี 2561 อาจเติบโตใกล้เคียง หรือ สูงกว่าไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 3.3% เล็กน้อย โดยมีแรงฉุดจากภาคส่งออกติดลบช่วงปลายปี บวกกับการเบิกจ่ายของราชการยังไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร และการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว เห็นได้จากยอดขายรถยนต์หดและรายได้เกษตรยังไม่ฟื้น จึงมีมุมมองสอดคล้องกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่คาดว่า จีดีพีไตรมาส 4 จะต่ำกว่า 4% ส่งผลให้ทั้งปี 2561 จีดีพีอยู่ที่ 4.1% ซึ่งเป็นตัวเลขตํ่ากว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้

"แนวโน้มไตรมาส 1 ปี 2562 ยังไม่ดีนัก สาเหตุมีฐานสูงจากปีก่อน บวกกับการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังไม่คลี่คลาย แม้จะไม่บังคับใช้มาตรการเข้มขึ้น แต่สหรัฐฯ ยังกดดันจีนอยู่ โดยที่เศรษฐกิจจีนและยุโรปยังชะลอตัว ดังนั้น ครึ่งปีหลังบรรยากาศการลงทุนของไทยน่าจะดีขึ้นภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่"

 

[caption id="attachment_389552" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 4 น่าจะเติบโตได้ 4% ทั้งปี 4.1% โดยสัญญาเศรษฐกิจรายเดือนเป็นแรงขับเคลื่อนในประเทศ เช่น การบริโภคเติบโตต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนค่อยเป็นค่อยไปและภาคท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับมา แต่ด้านต่างประเทศยังเป็นปัจจัยลบต่อภาคส่งออก เพราะการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง

"ปีนี้ไตรมาสแรกน่าจะขยายตัวที่ 3.4% เมื่อหักผลของฤดูกาลออก จะขยายตัวได้ราว 1.5% ส่วนหนึ่งจากฐานที่สูงที่ 4.9% ในไตรมาส 1 ปีก่อน แต่ภาคท่องเที่ยวคลี่คลายลง นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา แต่ภาคส่งออกยังไม่ดีนัก โดยจับตางบลงทุนโครงการต่าง ๆ มีความก้าวหน้าต่อเนื่อง แม้บางโครงการเลื่อน แต่ยังกำหนดช่วงเวลาดำเนินการไว้"

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภาคส่งออกยังฉุดจีดีพีไตรมาส 4 และทั้งปี 2561 โดยมองว่า ไตรมาส 4 จีดีพีขยายตัว 3.3% หลังปรับผลของฤดูกาลออกจากไตรมาส 3 ขยายตัว 0.3% เป็นการขยายตัวค่อนข้างช้า แต่ดีกว่าช่วงก่อนหน้า ซึ่งทั้งปีจีดีพีน่าจะแตะ 4% ซึ่งมีการบริโภคในประเทศเป็นปัจจัยบวก โดยเฉพาะกำลังซื้อจากฐานรากของมาตรการสวัสดิการของรัฐช่วยประคองเศรษฐกิจ แต่กำลังซื้อคนระดับกลาง ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้ายังไม่ฟื้น และภาคส่งออกที่ยังชะลอจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ผลเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการค้าโลก 2.เงินบาทแนวโน้มยังแข็งค่า และ 3.สต๊อกต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ทำให้ไตรมาสแรกน่าจะเห็นตัวเลขเติบโต 3.2% และจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งหลังของปี

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,445 วันที่  17 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

595959859