โบรกเกอร์ ยืนเป้าดัชนี ถึงแน่ 1800 จุด!!

16 ก.พ. 2562 | 23:43 น.
โบรกฯ ยืนเป้าคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยแตะ 1800 มั่นใจ! ฟันด์โฟลว์ไหลกลับครึ่งปีหลังแน่ เหตุจัดตั้งรัฐบาล นโยบายรัฐกระตุ้นการบริโภค-ลงทุนหนุน มองการเมืองขณะนี้แค่กระทบตลาดทุนระยะสั้น หากเลือกตั้ง 24 มี.ค. ไม่เลื่อน

ปัจจัยความไม่แน่นอนที่จะส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทั้งจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง กกต. ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ไว้พิจารณา (14 ก.พ.) และปัจจัยต่างประเทศ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจับตากันว่า ในวันที่ 15 ก.พ. 2562 จะได้ข้อตกลงหรือไม่ อย่างไร ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตราบใดที่ปัจจัยการเมืองไม่ได้กระทบให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดิม (24 มี.ค. 62) ก็ไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้น คาดว่า สถานการณ์การเมืองจะสะท้อนผ่านตลาดหุ้นในวันสองวันนี้เท่านั้น

โดย บล.เอเซีย พลัสฯ ยังคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ระดับ 1795 จุด และคาดว่า เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว


MP17-3445-A

สอดคล้องกับ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยในช่วงนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยระยะสั้นเท่านั้น เพราะเหลือเวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพียง 1 เดือน ซึ่งความกังวลหลักของนักลงทุน คือ การเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ มั่นใจว่า ทุกอย่างจะยังดำเนินไปอย่างปกติ ขณะเดียวกัน นักลงทุนส่วนใหญ่จะจับตาที่กติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยมองว่า ผลตอบรับที่จะมีต่อตลาดหุ้นนั้นจะอยู่ในช่วงหลังเลือกตั้งมากกว่า

ด้าน นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนยังมองว่า ตลาดหุ้นไทยจะดีขึ้น โดย บล.กรุงศรีฯ วางเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ที่ 1900 จุด และกำไรของตลาดคาดจะเติบโตราว 10% เชื่อว่าหลังจากที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว นโยบายของพรรคการเมืองที่มุ่งกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศจะเป็นแรงหนุนสำคัญ ขณะเดียวกัน ประเมินว่า ทุนต่างประเทศจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกไม่ตํ่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้โตเร็วเหมือนปีก่อน และการที่เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ฟันด์โฟลว์เริ่มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมทั้งตลาดจีนและไทย โดยหุ้นในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ, ภาคบริการท่องเที่ยว และกลุ่มแบงก์

"ผมไม่เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะถดถอย กุญแจสำคัญอยู่ที่จีน แต่จากมาตรการกระตุ้นที่พยายามทำอยู่ เชื่อว่าในเดือน พ.ค. นี้ จีนจะเริ่มฟื้นตัว ส่วนการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน น่าจะมีข้อตกลงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่ เฟดในครึ่งปีแรกจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย"

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบมากที่สุดต่อตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-15 ก.พ. 62) คือ การเลือกตั้ง โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิติดต่อกัน 5 วัน ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ก็จะมีการขายเพื่อลดพอร์ตทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในสัปดาห์หน้า (วันที่ 18-22 ก.พ. 62) สถานการณ์การลงทุนยังคงคล้ายกับสัปดาห์นี้ แต่จะมีความชัดเจนของประเด็นการเมืองมากขึ้น จากการประกาศรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งนักลงทุนยังให้ความสนใจกับทิศทางการเมืองต่อเนื่อง และจะลดความผันผวนลงได้บ้าง

"ประเมินไม่ได้แน่นอนว่า การเลือกตั้งจะออกมาหน้าตาแบบไหน เพราะยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังต้องรอดูผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 4 ปี 2561 ที่เหลือเพียง 2 สัปดาห์สุดท้าย อาจจะมีผลเป็นรายตัว ขณะที่ ปัจจัยในต่างประเทศโดยรวมดีขึ้น ทั้งการเจรจาการค้าที่ราบรื่นและราคานํ้ามันปรับตัวดี"

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา (1 ม.ค. - 14 ก.พ. 62) ต่างชาติซื้อสุทธิในหุ้นไทย 1,394.72 ล้านบาท ขณะที่ ขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยประมาณ 8,400 ล้านบาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39  ฉบับ 3,445 วันที่ 17-20  กุมภาพันธ์ 2562

595959859