ชี้ช่องจากทีมทูต | รู้ลึกรู้จริง การทำธุรกิจ "ร้านอาหารไทย" ในอเมริกา (ตอน 1)

19 ก.พ. 2562 | 09:29 น.
| คอลัมน์ : ชี้ช่องจากทีมทูต

| รู้ลึกรู้จริง การทำธุรกิจ "ร้านอาหารไทย" ในอเมริกา (ตอน 1)

……………….

กิจการร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากสนใจ โดยเฉพาะในมหานคร อย่าง ลอสแองเจลีส ซึ่งเป็นที่ตั้งของไทยทาวน์แห่งแรกและเป็นชุมชนคนไทยขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ จนหลายคนต่างขนานนามว่า เป็น "จังหวัดที่ 78" ของไทย และมีความสำคัญในฐานะจุดท่องเที่ยวระดับโลก ลอสแองเจลีสจึงเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของร้านอาหารไทยที่จะพบได้เป็นจำนวนมาก

แต่หากพิจารณาถึงอุปสรรคของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างแดน ก็จะพบว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญ นั่นคือ การทำผิดกฎหมายแรงงานและภาษี ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายถูกสุ่มตรวจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยิ่งไปกว่านั้น อาจถูกปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาล และอาจถึงขั้นถูกสั่งให้ปิดกิจการ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้องมากขึ้น สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลีส จึงได้รวบรวมข้อมูลด้านแรงงานและภาษีที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย โดยแบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษี และแนวทางสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารไทยในปัจจุบัน ดังนี้


TP12-3441-1

ประเด็นแรกเรื่อง กฎหมายแรงงาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจในหลักการ ว่า กฎหมายแรงงานของสหรัฐฯ แบ่งเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง (Federal) ระดับมลรัฐ (State) ระดับเขต (County) และระดับเมือง (City) โดยการบังคับใช้จะยึดหลักว่า กฎหมายระดับใดที่เข้มที่สุดให้บังคับใช้กฎหมายนั้นก่อน (เช่น กฎหมายเมืองกำหนดค่าแรงขั้นตํ่าไว้ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง ในขณะที่ กฎหมายรัฐบาลกลางกำหนดไว้ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง ก็ให้บังคับใช้ค่าแรงขั้นตํ่าของระดับเมือง เป็นต้น)

ในประเด็นที่ต่อเนื่องจากเรื่องนี้ กฎหมายมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม (Fair Labor Standards Act) ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีเงื่อนไขสำคัญ 5 ประการ ดังภาพประกอบ

กฎหมายของรัฐบาลกลางฉบับนี้ แตกต่างจากกฎหมายแรงงานระดับท้องถิ่น กล่าวคือ (1) มิได้กำหนดให้นายจ้างต้องให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ แก่ลูกจ้างอีก เช่น วันลาพักผ่อน อาหาร การหยุดพักระหว่างชั่วโมงทำงาน เป็นต้น (2) มิได้กำหนดรูปแบบการจ่ายค่าแรง (สามารถจ่ายเป็นเงินสดได้) และ (3) มิได้กำหนดเรื่องการตอกบัตร (สามารถจดบันทึกเวลาทำงานแบบใดก็ได้) และสามารถนับชั่วโมงการทำงานเป็นรายสัปดาห์ และในส่วนของความผิดตามกฎหมายฉบับนี้มีอายุความ 2 ปี (ในกรณีที่นายจ้างไม่เคยกระทำผิดมาก่อน) และ 3 ปี (ในกรณีที่นายจ้างเคยกระทำผิดซํ้า) ซึ่งบทลงโทษจะมีทั้งการเสียค่าปรับให้รัฐ (Civil Money Penalty) สูงสุด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ การชดใช้ค่าแรงค้างจ่ายให้ลูกจ้าง การจ่ายค่าทำขวัญ (Liquidated Damage) ให้ลูกจ้าง และอาจถูกลูกจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งต่อได้

ในขณะนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กำลังมีโครงการนำร่อง ที่เรียกว่า PAID (Payroll Audit Independent Determination) Program เพื่อให้นายจ้างที่สมัครใจจะปรับปรุงระบบการจ้างงานของตนเอง สามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ เพื่อทบทวนว่า สิ่งที่ปฏิบัติอยู่ หรือ เคยปฏิบัติมาในอดีต เข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดบ้าง และดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยไม่ถือเป็นความผิด โดยจ่ายค่าแรงค้างจ่ายให้ลูกจ้าง แต่ไม่ต้องเสียค่าปรับและจ่ายค่าทำขวัญ

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,445 ระหว่างวันที่ 17 - 20 กุมภาพันธ์ 2562

ติดตามฐาน