โรงนาหลานย่าแดง วิถีเกษตรปลดแอกชาวนาไทย

19 ก.พ. 2562 | 06:35 น.
เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ยังอมโรคเพราะการเสพรับสารเคมีทั้งที่รู้และไม่รู้และทุกข์กับหนี้สินรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มิอาจสร้างความมั่นคงในอาชีพ เราจึงไปไม่ถึง ความมั่นคงทางอาหาร และอาหารปลอดภัย  โจทย์ทั้งหมดจึงต้องย้อนกลับมาที่แปลงปลูก ที่เกษตรกรรายย่อยทั้งหลาย เราจำต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัยให้เกิดขึ้นในระดับครัวเรือนเกษตรกร แล้วจึงต่อยอดสู่ชุมชน สู่ระดับจังหวัด กระบวนการทั้งหมดต้องเริ่มที่แปลงปลูก

 

61256 การทำนาเพื่อขายข้าวเปลือก จึงมิใช่คำตอบสุดท้าย  มิใช่คำตอบที่ถูกต้องเกษตรกรรายย่อยต้องรวมกลุ่มรวมแปลงและวางแผนการผลิตอย่างชาญฉลาด

การทำเกษตรตามรอยพ่อหรือวนเกษตรในแบบต่างๆ  และกระบวนการผลิตต้องเป็นมิตรกับทุกชีวิตจึงเป็นหนทางที่ยั่งยืนและสามารถรักษาผืนดินผลิตอาหาร เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป  รวงข้าวสังข์หยดและรวงข้าวเล็บนกดำ ในระยะสร้างน้ำนม ถูกเก็บเกี่ยวอย่างประณีต เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอาง เช่นสบู่นมข้าว และอื่นๆ...นี่คือคำบอกเล่าของ“อำนาจ เกตุขาว” แกนนำเครือข่ายคนอินทรีย์วิถีเมืองลุงและประธานกลุ่มโรงนาหลานย่าแดง จังหวัดพัทลุง

เขาเล่าให้ฟังว่าเดิมทีก็เป็นคนหนุ่มที่เข้ามาทำงานรับเหมาก่อสร้างในเมืองกรุง เช่นเดียวกับคนอื่นๆ  แต่สุดท้ายวันหนึ่งต้องกลับไปดูแลผู้มีพระคุณ ก็ต้องคิดมากขึ้นหาความรู้มากขึ้นว่าจะทำอะไรดี เพราะมีที่นา  แต่การเป็นชาวไร่ชาวนาเพียงอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ จึงเรียนรู้เรื่องน้ำหมักที่จะมาทดแทนปุ๋ยเคมี จึงพุ่งความสนใจไปที่ “จุลินทรีย์” ..เกิดการค้นคว้าตำหรับตำราต่างๆ กูรูผู้รู้  กระทั่งมาค้นพบว่าจุลินทรีย์ในแต่ละท้องถิ่นจะเหมาะสมกับพื้นถิ่นนั้นๆ...จนพบกับ “จุลินทรีย์จากเขาบรรทัด”...ที่ทดลองแล้วเห็นว่าช่วงที่น้ำหลากลงมาจากเทือกเขาบรรทัดโรคที่อยู่กับข้าวตายหมด!! ...จึงเริ่มพัฒนาเรียนผิดเรียนถูกมาจนสำเร็จ

จากเหตุผลที่ว่าไม่ชอบทำเหมือนคนอื่น  ทำให้คุณอำนาจพัฒนาจุลินทรีย์ดังกล่าว ผ่านขั้นตอนกระบวนการหมักต่างๆ มาทดลองในที่นาของตน พอประสบความสำเร็จก็พยายามที่จะขยายความรู้และนำสิ่งดีๆ ไปบอกต่อคนในชุมชน  จากที่นาแปลงรอบๆ ใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า สุดท้ายคนเหล่านั้นต้องประสบปัญหาอาการผื่นคัน ภูมิแพ้ มือเท้าไหม้ ฯลฯ ที่เกิดจากผลข้างเคียงของสารเคมี

84776

จากความพยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ขึ้นมา ควบคู่กับการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ ทำให้การปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิม อย่างข้าวพันธุ์สังข์หยดและเล็บนกดำ เพราะใช้แนวคิด “เอาคุณค่านำมูลค่า” ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นเริ่มมองเห็นข้อดีของการใช้จุลินทรีย์และน้ำหมักปลูกข้าว เมื่อเทียบกับนาที่ใช้สารเคมีชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น เช่นที่ผ่านมาปลูกได้เฉลี่ย 400 กก./ไร่ แต่สมาชิกที่ใช้จุลินทรีย์ทำได้ 546 กก./ไร่และจะพยายามพัฒนาไปให้ถึง 600 กก./ไร่

ราคาข้าวขยับขายได้ถึงกิโลกรัมละ 80-120 บาททีเดียว และการทำแบบนี้ยังช่วยให้ได้ทั้งคุณภาพข้าวและสิ่งแวดล้อม   ปัจจุบันจึงมีการรวมกลุ่มกันในชุมชนและมีการรับซื้อข้าวของสมาชิกจนมีรวมๆ กันราว 300-400 ไร่ ปีหน้าจะขยับเป็น 1,000 ไร่ ราคาที่รับซื้อข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท เมื่อ 3 ปีก่อนมาวันนี้รับซื้อที่ 18,000-20,000 บาทต่อตัน ยิ่งเป็นข้าวเล็บนกดำข้าวเปลือกสดได้ราคาถึง 20,000 บาทต่อตัน

“ปลูกข้าวเสร็จ รอ 20 - 25 วัน เราสามารถตัดใบข้าวหอมมาทำชาใบข้าว  พออายุข้าวได้ 80 วัน เราจะตัดเอาข้าวที่กำลังตั้งท้อง (โบราณเรียกว่า ลักฉีกท้องข้าว) เอามาทำเป็น เครื่องประทินโฉม หรืออาหารเสริม พอถึงระยะน้ำนม จะเก็บเกี่ยวกันอีกยก ที่เหลือยกสุดท้ายจึงเก็บเกี่ยวข้าวเปลือก  พอข้าวเปลือกผลิตได้น้อย ราคาย่อมจะสูงขึ้นเป็นธรรมดา จุดคุ้มทุนจึงเริ่มตั้งแต่ข้าวในนาอายุได้ 30 วันจากใบข้าว ที่เหลือหลังจากนั้นค่อยนับเป็นกำไร ทำโครงสร้างต้นน้ำ(การผลิต)ให้ครบวงจร แข็งแรงพึ่งตัวเองได้ จึงค่อยต่อยอดสู่กลางน้ำ (การแปรรูป) เพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มมูลค่าขั้นสูง จากนั้นจึงเป็นเรื่องของปลายน้ำ (การขายการตลาด)”

คุณอำนาจเล่าต่อว่า ข้าวนอกจากข้อดีในการที่ไม่ใช้สารเคมีแล้ว จุลินทรีย์เหล่านี้ยังถูกทดลอง “คิดนอกกรอบ” แปรรูป  มาพัฒนาเพิ่มขั้นขึ้นไปอีก  จึงไม่หยุดนิ่งศึกษาแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการต่อไปอีก ยกระดับลองทำเป็นสบู่  ที่ใช้เองและแจกจ่ายให้คนรู้จักรอบกายก่อนแค่ 24 ก้อน ปรากฏว่าสบู่นี้สามารถลดอาการภูมิแพ้  สะเก็ดเงิน และอาการอื่นๆได้เป็นที่มหัศจรรย์มาก  จึงขยายกระบวนการนำน้ำหมักจุลินทรีย์ผสมเพิ่มไปเป็น สบู่สมุนไพรจากน้ำมันรวงข้าว มะพร้าวสกัดเย็น มังคุด สับปะรด เป็นต้น คาดต่อไปจะมี 8-12 สูตร  และนอกจากจะมีสบู่แล้วยังพัฒนาเป็นครีมทาตัว และไปถึงยาสระผม ที่จะเป็นสินค้าสมุนไพรไม่ใช่สบู่ยาแต่เป็นสินค้าโอท็อป

75896

คุณอำนาจบอกว่าแม้วันนี้สินค้าของกลุ่มจะยังไม่ได้รับการรับรองจากอย. หรือผลจากห้องทดลองก็ตาม แต่ที่ผ่านมาได้เข้าไปสมัครเข้าโครงการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ตามที่มหาวิทยาลัยทักษิณประสานงานให้แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ทั้งยังขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาต่อ แต่วันนี้การทำการตลาดของกลุ่มแม้จะยังไม่ได้ทำการตลาดมากนัก   แต่ก็ใช้การตลาดด้วยการสร้าง Story เรื่องข้าว เรื่องชุมชนและให้เห็นถึงนวัตกรรมการผลิตข้าว เพิ่มมูลค่าขั้นสูงให้กับการทำนา  เพิ่มคุณค่าของข้าว ที่แปรรูปเป็นสบู่ได้ราคาก้อนละ 170 บาท 80 กรัม และใช้ตัวแทนที่สนใจช่วยนำไปจำหน่าย

การกระทำเช่นนี้ คุณอำนาจย้ำว่าเปรียบเสมือนการปลดแอกอาชีพคือ 1.ปลดแอกจุลชีพ   2.ปลดแอกพันธุกรรม และ 3.ปลดแอกทุนเคมีข้ามชาติ และทำให้คุณภาพชีวิตของชาวนายกระดับได้ดีขึ้น...

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,445 วันที่ 17 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว