ทุ่ม 1.3 หมื่นล้าน แก้สิ่งแวดล้อม "86 โครงการ" พื้นที่อีอีซี

17 ก.พ. 2562 | 03:47 น.
กพอ. คลอดแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี 86 โครงการ รัฐทุ่มลงทุน 9.29 พันล้านบาท พร้อมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน 4.27 พันล้านบาท สร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ฉะเชิงเทรา ระบบกำจัดขยะเมืองพัทยา และเกาะล้าน ชลบุรี หลังเจอปัญหามลพิษที่ยังรอแก้ไขอีกเพียบ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในระยะ 4 ปี (2561-2564) ที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ มาแล้ว แผนดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (2561-2564) ถือเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซีในระยะที่ 1 ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 มาตรการ และ 79 แนวทางการปฏิบัติจัดการสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ได้เสนอโครงการเพื่อบรรจุในแผนปฏิบัติและโครงการเร่งด่วนรวม 86 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 13,572 ล้านบาท เพื่อขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรวม 9,298 ล้านบาท และให้เอกชนดำเนินงาน หรือ ร่วมทุนกิจการของรัฐในรูปแบบพีพีพี จำนวน 4,273 ล้านบาท


TP5-3445-A

สำหรับโครงการเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินงานจำนวน 14 โครงการ วงเงินรวม 8,555 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณประจำปี 2561-2562 วงเงิน 1,803 ล้านบาท และงบประมาณประจำปี 2563-2564 วงเงิน 2,538 ล้านบาท รวม 4,281 ล้านบาท และเป็นงบลงทุนของเอกชน หรือ เอกชนร่วมลงทุน จำนวน 4,273 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นของส่วนต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ในบางพื้นที่ของอีอีซีมีสารมลพิษปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศ มีการตรวจพบก๊าซโอโซน ฝุ่นขนาดเล็ก และสารอินทรีย์ระเหยง่าย แม่นํ้าสายหลักและคลองสาขายังมีความเสื่อมโทรม นํ้าเสียชุมชนที่ระบายลงสู่แม่นํ้าลำคลอง ส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง

อีกทั้งโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รวม 9,900 แห่ง มีการผลิตของเสียอุตสาหกรรมรวมประมาณปีละ 5.1 ล้านตัน สามารถกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 49% และพบการลักลอบทิ้งของเสียตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และเกิดกรณีฉุกเฉินด้านมลพิษบ่อยครั้ง


แอดฐานฯ

ขณะที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้เพียง 34% จากปริมาณที่เกิดขึ้น 4,300 ตันต่อวัน มีตกค้างสะสมจากการกองทิ้ง 2 ล้านตัน คาดการณ์ว่า ในปี 2580 ปริมาณขยะมูลฝอยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน รวมทั้งยังขาดระบบบำบัดนํ้าเสียชุมชนให้ได้มาตรฐาน ชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ปริมาณนํ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ เป็นต้น ดังนั้น การมีแผนจัดการสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะช่วยให้การบริการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,445 วันที่ 17-20 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว