SME D Bank ตั้งวงเงิน 2.2 หมื่นล้าน หนุนรายย่อยกู้ต่ำกว่า 1 ล้าน

18 ก.พ. 2562 | 02:53 น.
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank) ภายใต้การนำทัพของ "มงคล ลีลาธรรม" กรรมการผู้จัดการ ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นตามพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีมาตรการในการสนับสนุนเอสเอ็มอีออกมามากมาย รวมถึงมีการปรับรูปแบบการดำเนินการให้มีความทันสมัยมากขึ้น ... "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "มงคล" ถึงแผนการดำเนินงานในปีนี้ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจ

MMH-2
➣ เน้นช่วยเอสเอ็มอีรายย่อย

"มงคล"
บอกว่า ธพว. พยายามจะเข้าไปสนับสนุนกลุ่มคนตัวเล็ก หรือที่เป็นเอสเอ็มอีรายย่อย ในรูปแบบที่เรียกว่า ไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งมียอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาท และมีพนักงานไม่เกิน 5 คน ตามคำนิยามของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 โดยเอสเอ็มอีกลุ่มนี้จะมียอดขายไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อเดือน เป็นคนกลุ่มใหญ่ หรือประมาณ 88% ของเอสเอ็มอีทั้งระบบที่ยังเข้าไม่ถึง หรือ ไม่ได้เข้าระบบ องค์ความรู้ของความช่วยเหลือจากภาครัฐ และเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนถ่ายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

กลุ่มดังกล่าวจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคาร โดยที่ ธพว. จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาด้วยยุทธศาสตร์ 3D ไล่ตั้งแต่ Development คือ ช่วยพัฒนาธุรกิจด้วยความรู้คู่ทุน ให้เอสเอ็มอีสามารถขายของได้ ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

Delivery คือ บริการถึงถิ่นอย่างรวดเร็ว โดย ธพว. จะปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานในการพิจารณาสินเชื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ด้วยการวิ่งเข้าหาลูกค้า เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของเอสเอ็มอีที่มีความเชื่อว่า แบงก์รัฐไม่สามารถปล่อยกู้ให้ได้ โดยมียุทธศาสตร์ปี 2562 ที่เป็นไฮไลต์สำคัญในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้อยู่ที่การปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งธนาคารตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยจะช่วยเอสเอ็มอีได้ 3.5 หมื่นราย หรือเฉลี่ยรายละ 7 แสนบาท นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อตามปกติของธนาคารที่วงเงินไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน ภายใต้วงเงินงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 1 หมื่นราย หรือเฉลี่ยรายละ 3-4 ล้านบาท


Print

Digital คือ บริการผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยปัจจุบัน ธนาคารได้มีการให้บริการแพลตฟอร์ม (Platform) SME D Bank มุ่งมอบความสะดวกสบายในการเข้าถึงแหล่งทุนและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อยให้สามารถปรับตัวสู่ยุค 4.0 ในรูปแบบแอพพลิเคชัน (Application) บนสมาร์ทโฟน (Smart Phone) เนื่องจากการทำวิจัยระหว่าง ธพว. กับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า เอสเอ็มอีรายย่อยส่วนใหญ่จะไม่กล้าเดินเข้ามาหาสถาบันการเงิน เพราะขาดความพร้อมด้านคุณสมบัติ

ดังนั้น ระบบบริการผ่าน SME D Bank จะช่วยให้ธนาคารรู้ตัวตนและสถานประกอบการของเอสเอ็มอีรายย่อย สามารถทำหน้าที่เป็นฝ่ายเดินเข้าไปสนับสนุนเอสเอ็มอีด้วยตัวเองอย่างฉับไวและถึงถิ่น โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ 24 ชั่วโมงทุกเวลา ซึ่งหน่วยรถม้าของธนาคารจะดำเนินการในรูปแบบ 8-8-7 คือ ทำงาน 8 โมงเช้า จนถึง 2 ทุ่ม และทำงาน 7 วัน หรือทุกวัน


➣ เจาะกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม

สำหรับแนวทางปฏิบัติจะเน้นไปที่กลุ่มเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มโชวห่วย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 แสนรายทั่วประเทศ โดยจะให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะช่วยให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ปรับเปลี่ยนยกระดับ มีเครื่องมือใหม่ในการทำธุรกิจ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีต้นทุนที่ตํ่าลงและมีกำไรมากขึ้น

2.กลุ่มผู้ประกอบการที่ขายของอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 1.1 หมื่นราย มียอดขายเฉลี่ยต่อเดือน 1.4 แสนบาท ซึ่ง 45% ของกลุ่มนี้ยังไม่จดทะเบียนเข้าระบบภาษี โดยปีหนึ่งมีเงินหมุนเวียนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากธนาคารสามารถนำเอสเอ็มอีกลุ่มนี้สู่ระบบเพื่อช่วยเหลือ แทนที่จะขายหน้าร้านเพียง 3 วัน คือ ศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์ตามปกติ มาขายผ่านสื่อต่าง ๆ ทางด้านออนไลน์ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวที่รู้จักตลาดนัดจตุจักรปีละกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจ อีกทั้งสินค้าต่าง ๆ ที่จตุจักร 65% มาจากชุมชนต่างจังหวัด โดยจะทำให้เกิดการจ้างงานได้อย่างมหาศาล

และ 3.กลุ่มที่มีรายได้อิสระ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ โดยทำการยกระดับด้วย 3 เติม ได้แก่ เติมทักษะเติมทุนและเติมคุณภาพชีวิตให้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ จะต้องนำพากลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหมดประมาณ 6 แสนราย เข้าสู่ถนนดิจิทัล

"ปัจจุบัน โครงการ "ฮัก แท็กซี่" (Hug Taxi) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1 หมื่นราย โดยตั้งวงเงินงบประมาณเพื่อปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท ล่าสุด มีการทดสอบผู้เข้าร่วมอบรม 200 ราย ปรากฏว่า มีทั้งหมด 117 ราย ผ่านและพร้อมที่จะขอสินเชื่อได้ เพราะพิสูจน์ให้เห็นความตั้งใจจริง โดย ธพว. จะมีเงินฉุกเฉิน และอะไรอีกหลายอย่างมอบให้"

อย่างไรก็ตาม ธพว. มีแผนขอสนับสนุนเงินงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีงบเหลือ 1.8 พันล้านบาท ผ่านทาง ครม. เพื่อนำมาปรับใช้กับโครงการ "ฮัก แท็กซี่" ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพด้อยลง เช่น ผู้ที่เคยมีประวัติทางการเงิน สอบไม่ผ่านทางด้านทักษะ เพราะผู้ขับแท็กซี่ส่วนใหญ่จะเคยทำงานประจำ หรือทำธุรกิจมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเข้าเงื่อนไข "ล้มแล้วลุก" ได้


| สัมภาษณ์โดย : นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3445 วันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ 25623

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว