ยืดเวลาประมูล 'อู่ตะเภา' ปลดล็อกข้อจำกัด ดึงเอกชนหลายรายลงแข่ง

17 ก.พ. 2562 | 06:07 น.
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ล่าสุด เอกชนได้รับแจ้งขอแก้ไขเอกสารคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (Addendum) ที่ได้ขยายเวลายื่นซองประกวดราคา จากวันที่ 28 ก.พ. นี้ เป็นวันที่ 21 มี.ค. นี้ และการปรับข้อเสนอผลตอบแทนให้ภาครัฐ จากเดิมระบุว่า ต้องเสนอค่าตอบแทนให้ภาครัฐไม่ตํ่ากว่า 5.9 หมื่นล้านบาท ปรับมาเป็นคาดหวังว่า เอกชนจะเสนอค่าตอบแทนให้ภาครัฐ 5.9 หมื่นล้านบาท


➣ ปลดล็อก 2 ข้อจำกัด

การแก้ไข 2 ประเด็นหลักที่เกิดขึ้น เป็นการตอบรับข้อเสนอของเอกชนที่เรียกร้องให้มีการขยายเวลา เพราะหวั่นว่าจะเตรียมการด้านเอกสารไม่ทัน เพราะเป็นงานที่ซับซ้อนและมีข้อมูลด้านเอกสารจำนวนมาก การแปล การรับรองเอกสารต่าง ๆ รวมถึงวิตกถึงการจ่ายผลตอบแทน ที่กำหนดว่า ไม่ตํ่ากว่า 5.9 หมื่นล้านบาท ที่มองว่าสูงเกินไป


➣ หวั่นรันเวย์ 2 ดีเลย์

หากประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ เอกชนเป็นห่วงใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การก่อสร้างรันเวย์ 2 ของ ทร. ที่ปัจจุบันถือว่าล่าช้า เพิ่งจะได้ผู้ออกแบบ การก่อสร้างก็ต้องใช้เวลา และไหนยังต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ต้องใช้เวลาอีกร่วม 1 ปีครึ่ง ถ้าถึงเวลาเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งเอกชนลงทุนไปแล้ว แต่รันเวย์ 2 ยังไม่สามารถเปิดให้บริการ นั่นหมายถึงเอกชนจะขอใช้พื้นที่รันเวย์ที่ 1 โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น


TP-10-3445-A

➣ รอข้อสรุปไฮสปีด 3 สนามบิน

เรื่องที่ 2 คือ เอกชนยังต้องการรอดูท่าทีของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่น่าจะได้ข้อยุติภายในสิ้นเดือนนี้ ว่า ท้ายสุดระหว่างกลุ่มซีพีหรือกลุ่มบีเอสอาร์ใครจะได้ลงทุนในโครงการนี้ เพราะแม้ ทร. จะบอกว่าเป็นคนละโครงการกัน แต่จริง ๆ แล้ว เอกชนต่างมองว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะสัมพันธ์กับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพราะในการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เฟสแรก ในปี 2567 ต้องขยายการรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน ก่อนจะขยายเต็มเฟสรองรับที่ 60 ล้านคน การจะหวังให้สนามบินป้อนผู้โดยสารเฉพาะในอีอีซีอย่างเดียวก็คงไม่ใช่

ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังมีผลต่อการรวมกลุ่มเป็นคอนซอร์เตียมมายื่นประมูลด้วย เพราะชัดเจนว่า ผู้จะประมูลสนามบินอู่ตะเภาก็จะเป็นการทำคอนซอร์เตียมของ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มซีพีและกลุ่มบีเอสอาร์ เช่นกันที่ยังหาพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินจากต่างประเทศที่ต้องมีประสบการณ์บริหารจัดการสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็เนื้อหอม เพราะในทีโออาร์โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ระบุชัดเจนว่า ผู้ชนะการประกวดราคามีสิทธิไปเชิญ ทอท. มาร่วมลงทุน หรือร่วมพัฒนาสนามบินได้


➣ ดึงเอกชนหลายรายประมูล

การปรับข้อเสนอจึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการเสนอราคาที่จะดึงดูดให้เอกชนมายื่นซองประกวดราคาหลายราย เป็นการลดข้อจำกัดให้เอกชนมีการเสนอค่าตอบแทนที่เป็นไปได้ จากความคุ้มค่าในการลงทุนที่เกิดขึ้น และทำให้การเปิดประมูลครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เพราะบทเรียนในการประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท ก่อนหน้านี้ก็เห็นชัดเจนว่ามีมายื่นซองแค่รายเดียว

อีกทั้งการแก้ไขก็ไม่ได้ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ เพราะเกณฑ์ในการพิจารณาคณะกรรมการคัดเลือกก็ยังประเมินจากคนที่ให้ผลตอบแทนกับภาครัฐดีที่สุด

สำหรับการยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 21 มี.ค. นี้ นอกจากการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจแล้ว ในส่วนของข้อเสนอราคาเอกชนจะต้องไม่มีการเสนอเงื่อนไข หรือ ข้อความใด ๆ ที่มีลักษณะตีความในทางกฎหมายพ่วงมาด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณา แม้จะเสนอค่าตอบแทนสูงสุดมาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม จากการปรับไทม์ไลน์ในการเปิดประมูลที่เกิดขึ้น คาดว่า โครงการนี้จะได้ผู้ชนะประมูลประมาณสิ้นเดือน เม.ย. นี้ หรือ ต้นเดือน พ.ค. นี้นั่นเอง

| รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3445 ระหว่างวันที่ 17 - 20 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว