"เสื้อแดง" แถลงการณ์ ฟ้อง UN-EU ยุบ "ทษช." สร้างความขัดแย้ง

15 ก.พ. 2562 | 01:11 น.
แกนนำกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง ออกแถลงการณ์คัดค้านการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ชี้! พิจารณาอย่างไม่เป็นธรรม จี้! กกต. และศาลรัฐธรรมนูญอธิบาย เตรียมยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติและสหภาพยุโรป 

วันที่ 14 ก.พ. 2562 เวลา 10.17 น. นายอนุรักษ์ เจนตวานิชย์ แกนนำกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่ กกต. ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ Anurak Jeantawanich โดยระบุว่า

" ...

แถลงการณ์ คัดค้านการยุบพรรคไทยรักษาชาติ

เรียน สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ

แถลงการณ์ฉบับนี้จะได้รับการยื่นต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญในเช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก จากนั้นจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อยื่นให้กับตัวแทนของสหประชาชาติ และสหภาพยุโรปในประเทศไทย โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตามที่ กกต. ได้มีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยให้เหตุผลว่า การเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่ทราบกันนั้น

กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมภาคประชาชน ซึ่งได้ออกรณรงค์เลือกตั้งอย่างสันติภายใต้กรอบกฎหมายตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ขอคัดค้านการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ดังมีเหตุผลต่อไปนี้ ประการแรก การเสนอชื่อทูลกระหม่อมฟ้าหญิงอุบลรัตน์ ซึ่งตามกฎหมายเป็นสามัญชนตั้งแต่ปี 2515 ด้วยความสมัครใจของทูลกระหม่อมเองที่อาสาตนมารับใช้ประเทศชาติ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการส่งเสริมระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีพระราชโองการเห็นว่า ทูลกระหม่อมอยู่เหนือการเมืองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็สมควรยุติการดำเนินการที่จะนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ การที่ กกต. มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติย่อมจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมารอบใหม่ แทนที่จะให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเรียบร้อยเป็นทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประการที่สอง กกต. พิจารณาอย่างไม่เป็นธรรมสองมาตรฐาน พรรคการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธฺ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดโต๊ะจีนระดมทุนเข้าพรรคโดยผิดกฏหมาย มีผู้ยื่นให้ กกต. ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 บัดนี้ผ่านไป 55 วันแล้ว ไม่มีความคืบหน้า เปรียบเทียบกับกรณีของพรรคไทยรักษาชาติ กกต. ใช้เวลาพิจารณาเพียง 5 วันนับจากวันยื่นรายชื่อแคนดิเดท รวบรัดยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยไม่รับฟังความเห็นและข้อเท็จจริงจากพรรคไทยรักษาชาติ ประการที่สาม หากพรรคไทยรักษาชาติต้องถูกยุบพรรค เหตุเพราะเสนอชื่อทูลกระหม่อมที่เป็นพระเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์แล้วเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องถูกยุบพรรค แล้วสังคมไทยมีความเห็นอย่างไรกับกรณีที่พรรคประชาชนปฏิรูป โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ชูภาพของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการหาเสียง แน่นอนว่า สถาบันกษัตริย์และการเมืองมีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้น แต่ศาสนาและการเมืองสมควรแยกออกจากกัน การแอบอ้างพระพุทธเจ้าของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่? สมควรถูกยุบพรรคมากกว่าพรรคไทยรักษาไทยรักษาชาติหรือไม่? กรณีพรรคไทยรักษาชาติทูลกระหม่อมได้ให้ความยินยอม แต่กรณีของพรรคประชาชนปฏิรูปพระพุทธเจ้าได้ให้การยินยอมหรือไม่? เหล่านี้คือ สิ่งที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคำอธิบายให้กับประชาชน

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกของคนในชาติของประเทศไทย แท้จริงแล้วหาใช่เรื่องของประชาธิปไตยไม่ หากแต่เป็นเรื่องของความยุติธรรมที่เลือกปฏิบัติ พรรคการเมืองตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำอะไรไม่เคยผิด เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหารที่สังหารประชาชนที่มาเรียกร้องการเลือกตั้งไม่เคยมีความผิด กกต. ไม่เคยสั่งยุบพรรค นายกฯ ที่ไม่เคยชนะเลือกตั้งได้รับการปกป้องจากกระบวนการยุติธรรม รองนายกฯ ที่มาจากรัฐประหารได้รับสินบนเป็นนาฬิกาหรูหลายสิบเรือนมูลค่าหลายสิบล้านได้รับการปกป้องจาก ปปช. ไม่เคยกระทำผิด แต่นายกรัฐมนตรีที่เป็นสุภาพสตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีนโยบายช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นคนยากจนและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับถูก ปปช. ตรวจสอบ ถูกศาลรัฐธรรมนูญขับไล่ออกจากตำแหน่ง ถูกกองทัพทำรัฐประหาร ครั้งหนึ่ง ผู้นำของประชาชนที่ถูกรัฐประหารเคยถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า เมื่อเสนอชื่อทูลกระหม่อมพระเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์พรรคการเมืองที่เสนอก็จะถูกยุบพรรค การกล่าวอ้างไม่ว่าจะล้มเจ้าหรือใกล้ชิดเจ้าล้วนเป็นถ้อยคำที่สร้างขึ้นเพื่อทำลายนักการเมืองที่เป็นความหวังของประชาชน กีดกันผู้นำของประชาชนมิให้ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ผูกขาดความจงรักภักดีเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการทำลายนักการเมืองของประชาชนหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่ชาวไทยและชาวโลกได้รับคำตอบอย่างถ่องแท้ในวันนี้

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นความหวังที่จะให้ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศได้เลือกอนาคตผู้ปกครองของเขาเอง ได้หาทางออกให้กับประเทศจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาต่อเนื่อง 12 ปี หากพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนต้องถูกยุบพรรคโดยยังมิได้หาเสียงจะถือได้ว่าเป็นการร่วมสมคบคิดกันโกงเลือกตั้งจากผู้กุมอำนาจในประเทศนี้หรือไม่ สังคมไทยจะให้คำตอบเองในวันที่ 24 มีนาคม 2562 หากในวันนั้นยังมีการเลือกตั้ง

(นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และเพื่อนๆ)
นักเคลื่อนไหวในกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง

... "
347592

[caption id="attachment_389416" align="aligncenter" width="69"] ©FB/Anurak Jeantawanich ภาพเต็ม : https://goo.gl/DnTV3J ©FB/Anurak Jeantawanich
ภาพเต็ม : https://goo.gl/DnTV3J[/caption]

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว