รับมือเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่

14 ก.พ. 2562 | 12:58 น.
รับมือ-00000001 พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้ออกมาพยากรณ์จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในช่วงปลายปีนี้ หรือปีหน้า โดยดูจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายภูมิภาคที่ปรับตัวลง และช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 2562 และ 2563 เป็นเติบโต 1.3% ในปีนี้ จาก 1.9% ในปี 2561 และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาขยายตัว 1.6% ในปี 2563

ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดที่ใกล้เคียงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่ที่จีนและยุโรปและถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ จะหนักกว่ารอบที่แล้วมาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับวิกฤติเลย

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลรายนี้ ยังมองไปที่สงครามการค้า ซึ่งกำลังปั่นป่วนไปหมด อยู่ในสถานการณ์ที่สหรัฐฯกับจีน บอกว่า ถ้าขายของให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ จะกลายเป็นผู้ชนะและถ้าอีกฝ่ายต้องซื้อของจากอีกฝ่ายแล้ว ฝ่ายผู้ซื้อจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของมุมมองธุรกิจที่ค่อนข้างยํ่าแย่

[caption id="attachment_388577" align="aligncenter" width="500"] รับมือเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่ เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกเหนือจากนั้นผู้ที่กำหนดนโยบายรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ไม่มีพื้นที่ว่างเหลืออยู่สำหรับการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจขาลง อาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจขาลงเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่มีนโยบายที่ดีมารับมือ เฟดเหลือช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยลงอีกไม่ได้มากนัก ด้านนโยบายการคลังถ้าเตรียมให้พร้อม ก็จะยังมีพื้นที่เหลืออยู่ แต่ในช่วงเวลานี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะเห็นการตอบสนอง จึงเดิมพันได้ว่าโลกจะเกิดภาวะถดถอยอย่างแน่นอน

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งปัจจัยการเมืองที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักในห้วง 10 ปีหลัง ความกังวลยังเกิดขึ้นกับบรรดานักธุรกิจและทุกภาคส่วน ในแง่ของการเผชิญหน้าของคู่ขัดแย้งและหวั่นเกรงพัฒนาไปสู่ความเลวร้ายลง ทำให้นักธุรกิจ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ไม่ใส่เม็ดเงินในการลงทุนเพิ่ม ชะลอโครงการต่างๆออกไปก่อนเพื่อรอความชัดเจน คงมีเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐเพียงเล็กน้อยที่ยังเคลื่อนไหวไปตามนโยบาย

ทุกฝ่ายต้องหาทางรับมือกับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ โดยเฉพาะหาก 2 ปัจจัย เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จะส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือขจัดปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะภายในประเทศให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เหลือเครื่องมือรองรับความเสี่ยงจากภายนอกดังคำเตือนจากกูรูระดับโลกที่มิอาจมองข้าม เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

|บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3444 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 ก.พ.2562
595959859 090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503