ข่าวห้ามเขียน : ส่งไม้-รับงาน

14 ก.พ. 2562 | 09:03 น.
ส่ง-0001 ข่าวห้ามเขียน3444 ฮือฮากันทั้งกระทรวงการคลัง ยันสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ของบมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) รัฐวิสาหกิจที่เติบใหญ่พรวดพราด จนก้าวขึ้นมามีขนาดสินทรัพย์เป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ด้วยสินทรัพย์รวม 187,708.55 ล้านบาท หนี้สินรวม 43,439 ล้านบาท มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 60,537 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25,170 ล้านบาท มีมติตั้งกรรมการ 5 คน แทนกรรมการที่ออกตามวาระ....

อันได้แก่ วราห์ ทองประสินธุ์ กรรมการและเจ้าของบริษัท วราห์ โฮลดิ้งฯ และบริษัท ดิ แอคเซส ออดิตฯ กฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขึ้นเป็นกรรมการบริษัท

หลังจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ. ท่าอากาศยานไทย ครั้งที่ 2/2562 ที่มี “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ก็มีมติแต่งตั้ง ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เป็นกรรมการตรวจสอบ

ตั้ง พล.อ.ท.ประกิต ศกุณสิงห์ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ ตั้งมานิต นิธิประทีป อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร เป็นกรรมการตรวจสอบ ตั้ง ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เป็นกรรมการตรวจสอบ แต่งตั้ง กฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นกรรมการสรรหาและผลตอบแทน ตั้ง มานิต นิธิประทีป เป็นประธานกรรมการสรรหา น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นกรรมการตรวจสอบ

[caption id="attachment_388577" align="aligncenter" width="500"] ข่าวห้ามเขียน : ส่งไม้-รับงาน เพิ่มเพื่อน [/caption]

ที่ฮือฮามิได้อยู่ที่การตั้งกรรมการ แต่อยู่ที่ “สัญญาณการส่งมอบงานในฐานะประธานกรรมการ” บริษัท ทอท.ของปลัดกระทรวงการคลัง “ประสงค์” ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานในองค์กรแห่งนี้ และจะเกษียณอายุราชการในปีนี้ ไปสู่มือของ “น้องเลิฟคนไหน”

น้องเลิฟที่ว่านั้นเป็นที่จับตากันมายาวนานในกระทรวงการคลังยันซอยรางนํ้าว่า จะมีการส่งมอบเก้าอี้ประธานบริษัทอันดีเลิศประเสริฐศรีตัวนี้ต่อไปให้ใคร สุดท้ายหวยไปลงที่ “พี่ตู่-กฤษฎา จีนะวิจารณะ” มิใช่ตะหานคนมีสีหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคม เหมือนที่หลายคนคิดและคาดหวัง...555

เก้าอี้ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯนั้นถือว่าสำคัญ เพราะคนที่จะมานั่งต้องเป็นมือประสานสิบทิศ ไม่เพียงแต่องค์กรนี้มีคดีฟ้องร้องร่วม 39-40 คดีเท่านั้น หากแต่องค์กรนี้มีแผนการลงทุนและการเปิดสัมปทานจิปาถะบันเทิงยุ่บยั่บไปหมด เป็นแสนล้านบาท ถ้าได้คนที่ “ประสานงา” รับประกันซ่อมฟรีว่า องค์กรติดหล่มแน่นอน

ดังนั้น ประธานกรรมการ ที่จะมารับไม้ต่อไป จึงต้องมีความ “เก๋า-กึ๋น” และต้องมี “อนาคตไกล”

น้องตู่-กฤษฎา จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในการนำพาองค์กร ที่เป็นเจ้าของสนามบินแต่เพียงผู้เดียวในประเทศให้เติบใหญ่ในระยะยาวเพื่อก้าวสู่ “ฮับการบินของภูมิภาค”

อันว่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย นั้นได้จัดตั้งขึ้นโดยการแปลงสภาพจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ มาเป็น บริษัทมหาชนจำกัด เมื่อ 30 กันยายน 2545 มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 14,285 ล้านบาท มีกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 70% นักลงทุนรายย่อยถือหุ้น 30% เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เชื่อหรือไม่แค่ 3 ปีบริษัทนี้โตพรวดพราด ปี 2560 มีรายได้ 54,901 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้ 60,537 ล้านบาท มีผู้โดยสารมาใช้บริการถึง 139 ล้านคน

กำไรปี 2560 แค่ 20,683 ล้านบาท พอปี 2561 กำไร 25,170 ล้านบาท...รัฐวิสาหกิจแห่งไหนกำไรดีกว่านี้บ้าง...มีแค่บริษัท ปตท.ฯกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเท่านั้นแหละขอรับ...การส่งต่อ รับไม้ มาคุมกิจการจึงสำคัญด้วยประการฉะนี้แลโยมเอ๋ย...

| คอลัมน์ : ข่าวห้ามเขียน
| โดย : พรานบุญ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3444 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 14-16 ก.พ.2562 
595959859