เปิดขั้นตอน-วิธีพิจารณาคดีร้องศาล รธน. ยุบ "ทษช."

13 ก.พ. 2562 | 11:02 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เปิดขั้นตอน-วิธีพิจารณา คดีร้องศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ

หลัง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. นำคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 แล้ว เมื่อบ่ายวันพุธที่ 13 ก.พ. 2562

ต่อมา เมื่อเวลา 14.13 น. วันเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ในทางธุรการและอยู่ระหว่างการตรวจคำร้อง โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเสนอคำร้องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในวันที่ 14 ก.พ. 2562 เวลา 13.30 น. ต่อไป

เมื่อพลิกดูข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 คดีนี้จะมีกระบวนการและขั้นตอนพิจารณาในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้


กกต.ยื่นศาลรธน3



ประเด็นแรก ศาล รธน. มีหน้าที่และอำนาจรับคดีไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่?

ในข้อ 17 ของข้อกำหนดฯนี้ บอกชัดว่า ศาลมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาคดี ดังต่อไปนี้ ... (15) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามที่รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) บัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของศาล ...

กกต. ยื่นคำร้องต่อศาล รธน. ว่า ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาล รธน. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามที่บัญญัติในมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

คดีนี้ศาล รธน. จึงมีหน้าที่และอำนาจรับไว้พิจารณา


ไทยรักษาชาติ_190211_0037



ประเด็นต่อมา วิธีพิจารณาเป็นอย่างไร?

ในข้อ 6 ของบททั่วไป กำหนดไว้ว่า วิธีพิจารณาตามที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ให้ใช้ระบบไต่สวน ส่วนวิธีพิจารณาใดซึ่งข้อกำหนดฯ นี้ไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้และไม่ขัดต่อข้อกำหนดฯ นี้

ทั้งนี้ ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ หากมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคำร้องที่ขอให้วินิจฉัย หรือเป็นสามีหรือภริยา หรือญาติของคู่กรณี

โดยองค์คณะของศาลในการนั่งพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วย ตุลาการไม่น้อยกว่า 7 คน คำวินิจฉัยให้ใช้เสียงข้างมาก ยกเว้น มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

เมื่อมีคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องใด ให้ประธานศาล รธน. แต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่า 3 คน เป็นตุลาการประจำคดี ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ประธานศาล รธน. อาจไม่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีก็ได้

เมื่อ กกต. ยื่นคำร้องถึงมือศาล รธน. แล้วนั้น เบื้องต้น ต้องดูกันว่า ศาลจะตั้งตุลาการประจำคดี หรือจะใช้ตุลาการศาลทั้งหมดเป็นองค์คณะพิจารณา


ประเด็นที่ 3 ขั้นตอนการพิจารณาเป็นอย่างไร

ขั้นตอนพิจารณาคำร้อง

ในกรณีศาลไม่ได้แต่งตั้งตุลาการประจำคดีไว้ ให้ศาลตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ซึ่งในคดีนี้คือรับคำร้องเมื่อ 13 ก.พ. 2562 จะมีคำสั่งรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ภายในวันศุกร์ที่ 15 ก.พ. นี้

แต่หากศาล รธน. แต่งตั้งตุลาการประจำคดี ให้ตุลาการประจำคดีมีอำนาจตรวจและมีคําสั่งรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

ดังนั้น หากศาล รธน. มีคำสั่งตั้งตุลาการประจำคดี 3 คน ในวันรับคำร้อง (13 ก.พ. 62) ตุลาการประจำคดีมีอำนาจตรวจและมีคำสั่ง ว่า จะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ภายใน 15 วัน ก็จะมีเวลาพิจารณาเรื่องนี้ถึง 27 ก.พ. 2562

หากศาลเห็นพ้องด้วยกับตุลาการประจำคดี ให้จัดทำเป็นคำสั่งของศาล ว่า จะรับคดีไว้พิจารณาหรือยกคำร้อง

ทั้งนี้ ศาล หรือ ตุลาการประจำคดี อาจมีคำสั่งให้คู่กรณีที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีไม่ถูกต้องไปแก้ไขภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่เห็นสมควรก็ได้ เท่ากับไปเริ่มนับหนึ่งการยื่นคำร้องใหม่

เท่ากับว่าขั้นตอนนี้มีกรอบเวลาดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 วัน ถึง 15 วัน


ขั้นตอนการพิจารณาคดี

เมื่อมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา หากมีคู่กรณีศาลหรือตุลาการประจำคดีจะส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง หรือ แจ้งมารับ เพื่อให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง เมื่อครบกำหนดให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป

เท่ากับว่า ขั้นตอนนี้ต้องทอดเวลาไปอีก 15 วัน ให้กับ ทษช. ซึ่งเป็นคู่กรณี

ในการพิจารณาคดีของศาล หากศาลเห็นว่า คดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ต้องทำการไต่สวนก็ได้ การไต่สวนของศาลให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลมีอํานาจกําหนดบุคคลที่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้

เป็นอีกขั้นตอนที่ต้องลุ้น ว่า ศาลจะกำหนดให้วินิจฉัยเลยโดยไม่ต้องไต่สวนหรือไม่ โดยเวลานี้พรรค ทษช. ก็เคลื่อนไหวแล้วตั้งแต่ชั้นการตรวจสอบของ กกต. ว่า ขอสิทธิในการให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหา

ถ้าศาลกำหนดให้มีการไต่สวนสู้คดีของคู่กรณี จะมีขั้นตอนตามมา คือ

เมื่อศาลประกาศกําหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ให้ส่งสําเนาประกาศแก่คู่กรณี ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันนัด ส่วนกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่ศาลกําหนด

เท่ากับว่าในขั้นตอนนี้ต้องให้เวลาคู่กรณีอีก 15 วัน

นอกจากนี้ ในข้อ 34 ยังกำหนดว่า เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ศาลอาจกําหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนก็ได้ และให้แจ้งคู่กรณีทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน และให้คู่กรณีต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันนัดตรวจพยาน

หรือหากเพิ่มขั้นตอนให้มีการตรวจบัญชีพยานหลักฐาน ก็ต้องบวกเพิ่มอีก 15 วัน

เท่ากับว่า ขั้นตอนในวิธีพิจารณาคดีต้องใช้เวลาอีกระหว่าง 30-45 วัน กว่าจะถึงขั้นตอนการต่อสู้คดี ขณะที่ นับจากวันนี้ถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 นับถอยหลังแล้วเหลือเวลาอีก 40 วัน!

ในวันไต่สวนหากคู่กรณีใดไม่มาให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อได้ และหากศาลเห็นว่า คดีใดมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะงดการไต่สวนก็ได้

คู่กรณีสามารถร้องต่อศาลขอแถลงการณ์เปิดหรือปิดคดีก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้ทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นว่า ให้กระทำด้วยวาจา โดยให้ผู้ร้องแถลงก่อนแล้วให้ผู้ถูกร้องแถลงลำดับถัดไป โดยศาลจะซักถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมระหว่างหรือหลังการแถลงก็ได้

ในขั้นตอนนี้ไม่กำหนดกรอบเวลา ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของคดีและการไต่สวน


การทำคำวินิจฉัย

เมื่อไต่สวนเสร็จสิ้นหรือศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ให้นัดคู่กรณีฟังคำพิพากษาต่อไป

โดยคำวินิจฉัยของศาลให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ

นี่เป็นขั้นตอนตามวิธีการพิจารณาคดีในศาล รธน. ท่ามกลางการเฝ้าติดตามว่า ท้ายที่สุดศาล รธน. จะพิพากษาชี้ชะตา "ยุบ-ไม่ยุบ" พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองที่นับวันจะปะทุจุดเดือด ...

| รายงานออนไลน์ฐานเศรษฐกิจ โดย ... ทีมข่าวการเมือง

แอดฐานฯ