เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "กิ่งทองใบหยก"

13 ก.พ. 2562 | 04:30 น.
คำว่า "กิ่งทองใบหยก" ในความหมายของสุภาษิตไทย หมายถึง คู่บ่าวสาว หรือ คู่สมรส ที่มีความเหมาะสมกันในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น หน้าตา ผิวพรรณ ฐานะ การศึกษา หน้าที่การงาน หรือ วงศ์ตระกูล เป็นต้น แต่ทั้งนี้ คำว่า "มีความเหมาะสมกันในทุก ๆ ด้าน" นั้น สามารถตีความได้หลากหลาย คำถาม คือ ใครกำหนด

เนื่องจากการเลือกคู่แต่งงานเป็นการแลกเปลี่ยนรูปแบบหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ โดยอุปสงค์ ก็คือ การที่หัวใจของคนธรรมดาคนหนึ่งต้องการมีหัวใจอีกดวงหนึ่งอยู่เคียงข้าง ขณะที่ อุปทาน ก็คือ หัวใจของคนธรรมดาคนนั้นเองที่กลายที่เคียงข้างของหัวใจอีกดวงหนึ่ง สุดท้าย เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนภายใต้การเลือกคู่แต่งงานก็จะมีหัวใจ 2 ดวง ที่อยู่เคียงข้างกันตลอดไป


Freepik_ValentinesCoupleCollection02

เราสามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ผ่านการอธิบายการมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Information) ซึ่งหมายถึง การมีข้อมูลไม่ครบถ้วนและการมีข้อมูลที่ไม่สมมาตร (Asymmetric Information) ซึ่งหมายถึง การมีข้อมูลที่ไม่เท่ากันของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ บทความจะชี้ให้เห็นรูปแบบของการใช้ข้อมูลในการกำหนดความเหมาะสมกันของการเลือกคู่ในแต่ละช่วงยุค โดยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่

ยุคแรก เรียกว่า "ยุคทองแผ่นเดียวกัน" คำว่า ทองแผ่นเดียวกัน หมายถึง การเกี่ยวดองกันของวงศ์ตระกูลผ่านการแต่งงาน นั่นหมายความว่า ในยุคนี้ วงศ์ตระกูลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกิจกรรมการเลือกคู่ หรือที่เรียกกันว่า เป็น "การคลุมถุงชน"

ตั้งแต่สมัยศักดินาโบราณของไทย ทั้งหญิงและชายจะอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าขุนมูลนาย ทำให้เจ้าขุนมูลนายเองเป็นคนที่รู้ดีที่สุด ว่า ใครควรจะคู่กับใคร และเป็นคนเลือกคู่ให้บ่าวชายหญิงของตัวเอง ในขณะที่ ตัวเจ้าขุนมูลนายเองก็มักจะแต่งงานกันจากการถูกเลือกของผู้ที่มีศักดินาในลำดับขั้นที่สูงกว่า ข้อมูลที่มีบทบาทสำคัญในกิจกรรมการเลือกคู่จึงลดหลั่นกันไปตามลำดับศักดินาและอำนาจ

แต่ในอีกด้าน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ตัวเจ้าขุนมูลนายเองก็มักจะเลือกเอาผู้หญิงอายุน้อยที่หน้าตาดีในการปกครองของตนไปเป็นภรรยาเช่นกัน

ต่อมา เมื่อระบบศักดินามีบทบาทลดลง กิจกรรมการเลือกคู่ก็ตกไปอยู่ในมือของพ่อแม่ของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเป็นหลัก เพราะผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่าและรู้จักมักคุ้นกับครอบครัวอื่นมานานกว่า ระบบอาวุโสจึงมีบทบาทที่สำคัญในการกุมข้อมูลเพื่อการเลือกคู่ เราจึงมักได้ยินว่า ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ หรือ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น นั่นก็คือ มีข้อสมมติ (Assumption) ว่า ลูกที่ถูกเลี้ยงมาจะคล้ายพ่อแม่ของตัวเอง ซึ่งมีส่วนถูกในระดับหนึ่ง เพราะคนในยุคนั้นทำงานอยู่กับครอบครัวที่บ้าน หรือ ภายในชุมชนเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ในยุคนี้ความรู้จักมักคุ้นของวงศ์ตระกูลต่าง ๆ ก็ยังมีข้อมูลที่จำกัด เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวจะรู้จักกันทั้งหมด บางครอบครัวที่รู้จักคนเยอะ บางครอบครัวก็รู้จักคนน้อย จึงเกิดการพัฒนามาสู่ระบบคนกลาง ที่เรียกว่า "เถ้าแก่" หรือ "แม่สื่อแม่ชัก" ที่มีข้อมูลของครอบครัวที่หลากหลายและมีจำนวนมากกว่า เถ้าแก่ หรือ แม่สื่อ จึงกลายเป็นผู้มีข้อมูลและผู้กุมอำนาจ (บางส่วน) ในการเลือกคู่ เพื่อแลกกับเงินทองหรือสินนํ้าใจเล็กน้อยกลับไป

หากมองในเชิงของเศรษฐศาสตร์แล้ว ในยุคนี้ กิจกรรมการเลือกคู่อยู่ภายใต้การที่แต่ละฝ่ายมีข้อมูลที่ค่อนข้างเท่ากัน แต่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน

ยุคที่ 2 เป็น "ยุคบัวไม่ให้ชํ้า นํ้าไม่ให้ขุ่น" เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ละคนก็มีเสรีภาพในการทำงานมากขึ้น จึงเกิดการย้ายถิ่นเพื่อไปทำงาน เช่น คนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง หรือมีการทำงานนอกบ้านมากขึ้น ผลก็คือ คนรุ่นที่พร้อมจะแต่งงาน กลายเป็นคนที่สามารถเจอกันเองและเรียนรู้กันเองได้ พ่อแม่ หรือ ผู้ใหญ่ ที่เป็นคนยุคเก่า ซึ่งเคยทำงานอยู่กับถิ่นฐานของตัวเอง กลับเป็นคนที่มีข้อมูลน้อยกว่า

กิจกรรมการเลือกคู่ในยุคนี้จึงต่างไปจากยุคที่ผ่านมา เพราะกลายเป็นว่า ข้อมูลมีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่กลับสมมาตรน้อยลง เพราะชายหญิงที่มาทำงานเพิ่งรู้จักกันไม่นาน จึงต้องใช้ต้องลงทุนเวลาในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในยุคแรก ๆ พวกเขาจึงต้องใช้เวลาเรียนรู้กันนานมาก เพราะสังคมไม่ได้ยอมรับการหย่าร้างดังเช่นปัจจุบัน


7-3444A

เมื่อใดก็ตามที่มีการแต่งงานกันไปแล้ว พวกเขาจึงมักถูกสอนให้อภัยและอดทนซึ่งกันและกัน ดังการเปรียบคู่แต่งงานเสมือนลิ้นกับฟันที่ต้องอยู่ร่วมกันไปตลอด

ดังที่กล่าวไปแล้ว ในมิติของเศรษฐศาสตร์ ยุคนี้จึงเป็นยุคที่มีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์กว่าในอดีต เพียงแต่การรับรู้ข้อมูลของแต่ละฝ่ายกลับเป็นว่า ไม่เท่าเทียมกันแทน และสังคมอยู่กับยุคนี้มาเป็นเวลานาน

ยุคที่ 3 คือ "ยุคชายหาบหญิงคอน" เป็นยุคที่ชายหญิงตัดสินใจอยู่ร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความสุขระหว่างกัน และทำให้ความสุขของแต่ละคนสูงขึ้น ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความสุขสูงขึ้นกว่าการอยู่ตัวคนเดียว ก็สามารถย้อนกลับมาอยู่ตัวคนเดียวได้

สาเหตุประการหนึ่ง เนื่องมาจากการมีข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นผ่านโลกออนไลน์

รวมทั้งแต่ละคนก็ยังมีข้อมูลที่สมมาตรมากขึ้นด้วย เพราะสามารถเรียนรู้ตัวตนผ่านโลกออนไลน์ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิต ความคิด หรือ ทัศนคติ ชอบกิจกรรมอะไรเป็นพิเศษ มีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร มีเพื่อนในกลุ่มไหนบ้าง เป็นต้น ชายหญิงอายุปัจจุบันจึงมีทางเลือกมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลงในการเรียนรู้เพื่อตัดสินใจเลือกทางเลือกดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ปัญหาในยุคปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของข้อมูลที่มากเกินไป (Flood of Information) จนไม่รู้ว่าข้อมูลใดจริง หรือ ข้อมูลใดเท็จ จึงเกิดมีบริษัทจับคู่ (Matchmaking) ขึ้น ที่นอกจากจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลของคนโสดแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ตรวจสอบและรับประกันข้อมูลด้วย

การจัดการข้อมูลในยุคนี้จึงเข้าสู่ระบบตลาดอย่างแท้จริง เพราะมีเอกชนเข้ามาสร้างความสมบูรณ์ของข้อมูลและสร้างความสมมาตรผ่านการตรวจสอบและการประกันข้อมูล ทำให้การเลือกคู่ในยุคใหม่เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ประกอบกับการที่สังคมเปิดกว้างขึ้น กิจกรรมการเลือกคู่จึงไม่ได้เป็นดุลยภาพจุดเดียว (Single Equilibrium) เหมือนในอดีต แต่เป็นดุลยภาพที่หลากหลาย (Multiple Equilibria) อย่างเต็มรูปแบบ

กระบวนการเลือกกิ่งทองใบหยกจึงไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในความหมายที่แท้จริงแห่งการแสวงหาความเข้ากันได้ของหัวใจทั้ง 2 ดวง เพียงแต่รูปแบบของการแสวงหาจำเป็นต้องใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงได้แค่รูปแบบของการแสวงหาข้อมูล หาได้เปลี่ยนแปลงความหมายที่แท้จริงในความเหมาะสมของกิ่งทองใบหยกไม่

คำถามของหนุ่มสาวสมัยใหม่จึงอยู่ที่ว่า เราจะตามหาหัวใจของเราอีกดวงในระบบที่มีดุลยภาพหลากหลายนี้ได้อย่างไร

| คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ

| โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3444 ระหว่างวันที่ 14 - 16 กุมภาพันธ์ 2562

595959859