กฟผ. ปรับทัพรับ PDP!! ส่งบริษัทลูกชิงไอพีพี

12 ก.พ. 2562 | 12:09 น.
120262-1854

กฟผ. ปรับตัวรับแผนพีดีพีใหม่ หลังโดนบีบสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเหลือแค่ 24% ส่งบริษัทลูก "เอ็กโก-ราชบุรีโฮลดิ้ง" ลงชิงประมูลไอพีพีแข่งกับเอกชน 8,300 เมกะวัตต์ เร่งโซลาร์ลอยน้ำ ออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน

มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพีฉบับใหม่ (2561-2580) โดยเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบมากขึ้น แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงเหลือ 24% หรือราว 18,530 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิต 77,211 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นแผนจากปัจจุบันมีสัดส่วนที่ 34.9% หรือราว 16,071 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตที่ 46,090 เมกะวัตต์ ถือเป็นการลดขนาด หรือ การคุมองค์กรไม่ให้มีการเติบโตมากนัก

 

[caption id="attachment_388217" align="aligncenter" width="503"] ©FB/กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ©FB/กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย[/caption]

การลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ส่งผลให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อที่ต้องการรักษาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไว้อยู่ในมือมากที่สุด โดยเฉพาะแผนพีดีพีใหม่กำหนดจะเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันผลิตไฟฟ้า หรือ ไอพีพี จำนวน 10 โรง คิดเป็นประมาณ 8,300 เมกะวัตต์ แนวทางการดำเนินงานนั้น กฟผ. จะมอบให้บริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก ที่ถือหุ้นอยู่ราว 25.41% และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 45% เข้าร่วมประมูลไอพีพีแข่งกับเอกชน ซึ่งจะช่วยให้มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาได้

นอกจากนี้ จะต้องดำเนินการติดตั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำทั้ง 11 เขื่อน จำนวน 2,656 เมกะวัตต์ ให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในพีดีพี และการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้ตามแผน ได้แก่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องเดิม 600 เมกะวัตต์ เพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าน้ำพองเป็น 650 เมกะวัตต์ เพิ่มโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 1,400 เมกะวัตต์ และทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 2,100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าสูบกลับลำตะคอง 500 เมกะวัตต์ ให้ได้ตามแผน

 

[caption id="attachment_387806" align="aligncenter" width="500"] กฟผ. ปรับทัพรับ PDP!! ส่งบริษัทลูกชิงไอพีพี เพิ่มเพื่อน [/caption]

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ตามแผนพีดีพีในช่วง 10 ปีแรก จะยังไม่ลดลงมากนัก ขณะที่ ช่วง 10 ปีหลัง (2571-2580) จะมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ใน 11 เขื่อน ซึ่งจะทำให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ กฟผ. มีรายได้จากส่วนนี้เข้ามา

รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศ ทำการวิจัยพัฒนาโครงการโซลาร์ลอยน้ำ หากประสบความสำเร็จ มีโอกาสที่ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และในอาเซียน โดยอาศัยพันธมิตรภายใต้การลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันดำเนินงาน เนื่องจากธนาคารพัฒนาเอเชียที่ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับประเทศด้อยพัฒนาที่ต้องการทำโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. จึงศึกษาเพื่อเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการเหล่านี้เช่นกัน

อีกทั้ง ทางรัฐบาลเปิดให้มีการนำเข้าเสรีก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ได้ โดยเบื้องต้น มอบหมายให้ กฟผ. ทดลองนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันในปีนี้ กฟผ. จะมีรายได้จากการบริการในส่วนนี้มากขึ้นในอนาคต

 

[caption id="attachment_388219" align="aligncenter" width="503"] ©FB/กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ©FB/กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย[/caption]

นอกจากนี้ ทาง กพช. เห็นชอบให้ลงทุนขยายโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศต่าง ๆ อาทิ เมียนมา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม ซึ่งจะทำให้ กฟผ. มีรายได้จากค่าบริการสายส่งเข้ามาเสริมในอนาคต โดยที่ผ่านมาได้รับอนุมัติและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 17 โครงการ และมีแผนศึกษาเพื่อขออนุมัติ 11 โครงการ

โครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้า นอกจากรองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าแล้ว จะต้องเชื่อมโยงระบบจำหน่าย เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) ด้วย

โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 1 หมื่นเมกะวัตต์ จะมีการตั้งสถานีระบบกักเก็บพลังงานย่อยในแต่ละพื้นที่ เพื่อเก็บไฟฟ้าส่วนเกินไว้จำหน่ายในช่วงกลางคืน ทำให้ กฟผ. มีรายได้ส่วนต่างจากการขายไฟฟ้ากลับเข้าระบบในช่วงกลางคืนได้อีกทางหนึ่งด้วย


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,442 วันที่ 7 - 9 ก.พ. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กฟผ. เผยนำน้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้าตามแผน มีผู้ยื่นเสนอขาย 32 ราย
รัฐคุมกำเนิดยักษ์ กฟผ. หากินสายส่ง-เอกชนเฮ!!


เพิ่มเพื่อน
ติดตามฐาน