หอการค้าชี้! "ปัจจัยลบ" รุมเร้า ฉุดส่งออกไทยปี 62 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี

12 ก.พ. 2562 | 09:34 น.
หอการค้าไทยประเมินส่งออกไทยปี 62 ขยายตัว 4.4% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ปัจจัยลบรุมเร้า สงครามการค้า ค่าบาท ราคาน้ำมันดิบ แนะไทยยังเร่งเจาะตลาดใหม่มากขึ้น อินเดีย รัสเซีย ตลาดเก่ายังต้องรักษาส่วนแบ่งไว้ ปีนี้ยังต้องจับตาตลาดจีน หลายฝ่ายประเมินเศรษฐกิจจีนหดตัวกระทบส่งออกไทย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์ "การส่งออกไทยปี 2562 ภายใต้ความผันผวนเศรษฐกิจโลก" ว่า หอการค้าไทยคาดการณ์ส่งออกไทยขยายตัว 4.4% ซึ่งเป็นการโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 แต่อยู่ในกรอบ 3.2-4.6% ภายใต้สมมุติฐานที่ส่งผลกระทบ เช่น เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.5% ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การเจราประสบความสำเร็จระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่มีการขึ้นภาษีเพิ่มเติม ยังอยู่ที่ภาษีที่ 10% สถานการณ์ Brexit ไม่มีผลกระทบรุ่นแรง โดยสถานการณ์ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางปกติ

ทั้งนี้ หอการค้าไทยประมาณการส่งออกไว้ 3 สถานการณ์ โดยทุกอย่างเป็นไปในทางปกติ ภาพการส่งออกทั้งปี 4.4% ส่วนอีกกรณี คือ สถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.7% ราคาน้ำมันดิบ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ, จีนและสหรัฐฯ เจรจาไม่มีการขึ้นภาษี, Brexit ไม่รุนแรง การส่งออกไทยทั้งปี จะขยายตัว 4.6% แต่สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 2.9% ราคาน้ำมันดิบ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ, การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนล้มเหลว ทำให้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 20% ตามแผนเดิม ขณะที่ ปัญหา Brexit ไม่รุนแรง ภาพรวมจะทำให้การส่งออกไทยทั้งปี 2562 ขยายตัว 3.2%

"หากดูสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปในตลาดโลก 70% ยังคงอยู่ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป อาเซียน และจีน โดยเฉพาะตลาดจีนในปีนี้ มีความน่ากังวล เพราะไทยพึ่งพิงการตลาดจีนมากขึ้น ขณะที่ เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ นับจากนี้ รวมไปถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งก็จะมีผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวลดลง และเมื่อเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ไม่ดี การส่งออกไทยก็ไม่ขยายตัว แต่ทั้งนี้ ตลาดดังกล่าวยังเป็นตลาดสำคัญที่ไทยจำเป็นต้องรักษาตลาดและส่วนแบ่งตลาดไว้ ส่วนอีก 30% ไทยส่งออกไปในกลุ่มตลาดใหม่ อินเดีย แอฟริกา บราซิล อเมริกาใต้ เป็นต้น แต่สัดส่วนการส่งออกยังน้อย จึงมองว่า ไทยควรที่จะขยายตลาดมากขึ้น"


2699

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกระทบอื่นที่ ๆ มีผลต่อการส่งออกไทย เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลง การตัดสิทธิ์ GSP สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 11 รายการของไทยจากสหรัฐฯ รวมไปถึงประเด็นที่ต้องติดตาม ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลง เนื่องจากในปี 2562 ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างอียูกับเวียดนาม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ โดยจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในบางสินค้ากับไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาพการแข่งขันและการส่งออกไทยในปีนี้

ส่วนปัจจัยบวก เช่น อียูปลดใบเลืองประมงไทย รวมถึงสหรัฐฯ อาจจะยืดเวลาในการปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนออกไป 90 วัน ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการค้าของไทยโลกดีขึ้น อย่างไรก็ดี ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หอการค้าไทยประเมินผลกระทบที่ส่งผลกระทบให้กับประเทศไทย โดยกรณีที่เจรจาล้มเหลว ทั้ง 2 ประเทศ มีการปรับขึ้นภาษีระหว่างกันและเพิ่มรายการสินค้าในการเก็บภาษี จะทำให้การส่งออกไทยจากสงครามการค้าลดลง 1.9% หรือมีมูลค่าที่หายไป 4,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กรณีเจรจาล้มเหลวมีการปรับขึ้นภาษี แต่ไม่ได้เพิ่มรายการสินค้า การส่งออกไทยจะหดตัว 1.0% หรือมูลค่าที่หายไป 2,367 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกรณีดีที่สุด การเจรจาประสบผลสำเร็จ ไม่มีการปรับขึ้นภาษี ไทยจะได้รับผลกระทบเพียง 0.5% หรือมูลค่าที่หายไปเพียง 1,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายสินค้าที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ตลาดสหรัฐฯ กลุ่มสินค้าที่ไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดดังกล่าว เครื่องจักกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกไทยไปตลาดจีน สินค้าที่กระทบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เม็ดพลาสติก เป็นต้น


2701

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2562 ค่าเงินบาทไทยยังมีความผันผวน โดยเดือน ม.ค. ค่าเงินบาทไทยแข็งค่า 3.4% ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย ส่วนเดือน ก.พ. ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 3.0% ซึ่งยังคงผันผวน ทั้งนี้ หอการค้าไทยประมาณว่า หากค่าเงินบาททั้งปี 2562 อยู่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกไทยจะลดลง 0.1% มีมูลค่า 341.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกไทยจะลดลง 0.4% มีมูลค่า 1,099 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้น 0.9% มีมูลค่า 2,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี หากจะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินนั้น ไทยจะต้องเพิ่มกิจกรรมเจรจาการค้าให้มากขึ้น เพื่อให้การส่งออกเติบโตและมุ่งเน้นเข้าไปทำตลาดใหม่ เช่น รัสเซีย อินเดีย ตะวันออกกลาง บราซิล เนื่องจากที่ผ่านมา การทำตลาดไทยไปในกลุ่มนี้ยังน้อย และโอกาสของสินค้าที่น่าจะไปได้ดี คือ กลุ่มสินค้าเกษตร ผลไม้ ซึ่งน่าจะทำได้ดี และปัจจุบัน การทำตลาดผลไม้ส่วนใหญ่ที่นำเข้าไป จะมาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ผลไม้ไทยยังเข้าไปน้อย สินค้าอื่น ข้าว ยางพาพา เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น อีกทั้ง ประเทศเหล่านี้ก็พร้อมที่เจรจาการค้าไทยกับด้วย เป็นสิ่งที่ไทยต้องผลักดัน เพราะอนาคต หากไม่มีการเจรจา ไทยอาจจะเสียตลาด เมื่ออียูเจรจาเอฟทีเอกับเวียดนามและมีการบังคับใช้ในเร็วนี้

ติดตามฐาน