"พลังงาน - ปตท.สผ." ลงนามสัญญา PSC "เอราวัณ-บงกช" ปลาย ก.พ. นี้

12 ก.พ. 2562 | 07:03 น.
สัมปทาน
กระทรวงพลังงานเตรียมลงนามสัญญาการรับสิทธิ์ในการดำเนินการกิจการระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (บริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.) ถือหุ้น 60% ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด (เครือบริษัท มูบาดาลา จากสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ถือหุ้น 40% ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ชนะประมูลแปลง G2/51 (บงกช) ภายในปลายเดือน ก.พ. นี้

โดยขณะนี้ ร่างเอกสารสัญญายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด จากนั้นจะส่งกลับมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อแก้ไขตามความเห็นของคณะกรรมการอัยการ และคาดว่าจะสามารถลงนามร่วมกัน ประกอบด้วย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปตท.สผ. และมูบาดาลา

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการลงนามสัญญาการรับสิทธิ์ดำเนินกิจการระบบพีเอสซีในแปลงเอราวัณและบงกช ซึ่งตามกรอบเดิมจะลงนามภายในเดือน ก.พ. นี้ ตอนนี้ทางสำนักอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญา คาดว่าจะน่าจะสามารถลงนามได้ทันตามกรอบเดิม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และผู้ชนะสัมปทานรายใหม่ ลงนามสัญญาพีเอสซีภายในเดือน ก.พ. แล้ว จากนั้นคาดว่า ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2562 จะสามารถลงนามร่วมกันระหว่างผู้รับสัมปทานรายใหม่กับผู้รับสัมปทานรายเดิม โดยเฉพาะแปลงเอราวัณที่ บริษัท เชฟรอน ยังเป็นผู้ดำเนินการจนกว่าจะหมดสัญญาในปี 2565-2566 เพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถเข้าไปดำเนินงานได้ก่อน ขณะที่ แปลงบงกชไม่มีปัญหา เนื่องจาก ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะการประมูล

อย่างไรก็ตาม ในสัญญาระบุว่า ผู้รับสัมปทานรายใหม่จะต้องสามารถผลิตปิโตรเลียมทันทีในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยยังคงรักษากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในแปลงเอราวัณไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลงบงกช อยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น ปตท.สผ. จำเป็นต้องลงทุนแท่นผลิต (แฟลตฟอร์ม) ก่อนที่เชฟรอนจะหมดสัญญา ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเป็นตัวกลางในการประสานต่อไป

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างรอการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อเริ่มดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ ที่วางไว้ในการรักษาปริมาณการผลิตของทั้ง 2 แหล่ง ตามแผนงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

สำหรับแผนการดำเนินงานและมูลค่าลงทุนในแหล่งเอราวัณและบงกชจะมีการลงทุนแทนขุดเจาะเพิ่ม การวางแท่นผลิต (แฟลตฟอร์ม) เพิ่ม ในช่วง 5 ปีแรก (ปี 2566-2570) ในส่วนของบงกช เงินลงทุนอยู่ที่ 400-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และเอราวัณ อยู่ที่ 600-650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือคิดเป็นในส่วนที่ ปตท.สผ. จะต้องลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว