สทนช.ตื่น!สั่งรับมือฤดูแล้งมาเร็ว!!

12 ก.พ. 2562 | 05:51 น.
สทนช. ติวเข้ม หลังกรมอุตุฯ คาดไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย กพ. - พค. ส่อสัญญาณแล้งมาเร็ว เตรียมชง “บิ๊กฉัตร”เห็นชอบมาตรการป้องผลกระทบ ย้ำหน่วยคุมแหล่งน้ำแจงฐานข้อมูลหวังเป็นกลไกบรรเทาเหตุตามกฏหมายน้ำ

473257

นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทนช.จัดการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศของประเทศไทย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศ คาดหมายปริมาณฝน 3 เดือนล่วงหน้า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติใน ภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยปริมาณฝนรวมต่ำกว่าปกติ 5% ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าปกติ10%

climate-change-2241061_1920

"ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะเริ่มประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม โดยฤดูร้อนปีนี้คาดว่าอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนจะสูงกว่าค่าปกติและสูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10-30 เว้นแต่ในเดือนเมษายนที่มีฝนใกล้เคียงปกติบริเวณภาคเหนือจากลักษณะอากาศดังกล่าวอาจส่งผลให้เพิ่มความสูญเสียน้ำในระบบและแหล่งน้ำมากขึ้น"

473258

ดังนั้น สทนช.ได้ประสานขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มข้นการควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน พร้อมงดการส่งน้ำนอกแผน การตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกเกินแผน จัดทำทะเบียนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชรอบสอง แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง  พร้อมทั้งแจ้งเตือนขอความร่วมมือทุกภาคส่วนก่อนจะดำเนินการตาม พ.ร.บ. น้ำ พ.ศ. 2561  ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าแผน ปี 2561/62 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน  GISTDA กรมทรัพยากรน้ำ  โดยมีการเปรียบเทียบแผนและผลการเพาะปลูกทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานรายจังหวัด พบว่าในเขตพื้นที่ชลประทานมีแผนเพาะปลูกข้าว 8.03 ล้านไร่ ผล 7.69 ล้านไร่ คิดเป็น 96% ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมมีพื้นที่ปลูกไม่เกินแผน

473261

แต่พบว่ามีบางพื้นที่มีการเพาะปลูกข้าวเกินแผน 822,082 ไร่ ใน 24 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ขอนแก่น อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว สุพรรณบุรี และจังหวัดตรัง  ขณะที่นอกเขตพื้นที่ชลประทานภาพรวมยังไม่เกินแผนเช่นเดียวกัน โดยแผนเพาะปลูกข้าว 3.18 ล้านไร่ ผล 2.02 ล้านไร่ คิดเป็น 64% มีการเพาะปลูกข้าวเกินแผนบางพื้นที่จำนวน 34,142 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก บุรีรัมย์ สุรินทร์ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสทนช.ได้ประสานขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสรรน้ำทั้งในและนอกเขตขลประทาน วิเคราะห์หาสาเหตุพื้นที่ที่มีการปลูกพืชต่ำกว่าแผนที่ส่งผลทำให้พื้นที่อื่นที่มีความพร้อมอาจขาดโอกาสในการใช้น้ำเพื่อการปลูกพืชด้วย

drought-3618657_1920

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันกำหนดกอรบแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ๆ โดย สทนช.จะได้นำเสนอต่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำฯ รับทราบ  ได้แก่ 1. ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำมาตรการควบคุมพื้นที่เพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำ 2. ติดตามเฝ้าระวังสภาพน้ำในลำน้ำสายหลักและพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ เพื่อแจ้งข้อมูลให้ทางจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบและเตรียมการป้องกัน 3.การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประหยัดโดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ปลูกพืชฤดูแล้ง

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรไม่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว และปรับเปลี่ยนอาชีพอื่น เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ตอนบนมากกว่าแผนฯ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายมากกว่าแผนเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน รวมถึงควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด 4.การเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด วัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือพื้นที่เกษตรที่รอเก็บเกี่ยวให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และ 5. ขอให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการแหล่งน้ำเตรียมการจัดทำบัญชีรายชื่อแหล่งน้ำ ผู้ใช้น้ำ โดยแสดงขอบเขตของพื้นที่ที่รับผิดชอบในเชิงพื้นที่ตามที่ระบุใน พ.ร.บ. น้ำ พ.ศ. 2561 โดย สทนช.จะกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไป

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว