EICวิเคราะห์วิกฤติเวเนซุเอลากับตลาดน้ำมันโลก

11 ก.พ. 2562 | 10:37 น.
สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา Petro leos de Venezuela (PdVSA) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2019 เพื่อตัดรายได้จากการขายน้ำมันไม่ให้เข้าคลังรัฐบาล และบีบคั้นให้ นาย นิโคลัส มาดูโร ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยสนับสนุน นาย ฮวน ไกวโด ผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กังวลว่า ราคาน้ำมันดิบโลกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากการที่อุปทานของเวเนซุเอลาหายไปจากตลาดโลก ในช่วงเดียวกับที่กลุ่มประเทศโอเปกกำลังปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ถึงแม้ว่าไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันจากเวเนซุเอลา แต่อาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงขึ้น และจากส่วนต่างราคาน้ำมันดิบชนิดเบาและชนิดหนัก (light-heavy crude spread) ที่ลดลง   ทั้งนี้ "พิมใจ ฮุนตระกูล " Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า

ทำไมสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันของเวเนซุเอลา?
สหรัฐฯ มีมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอลาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2006 ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะต่อผู้ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล รวมไปถึงการคอร์รัปชันของผู้นำในรัฐบาล มาตรการคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา PdVSA ครั้งล่าสุดนี้ห้ามให้บริษัทและบุคคลสัญชาติอเมริกัน ทำธุรกรรมกับ PdVSA โดยหวังว่าการตัดรายได้จากการขายน้ำมันนั้น จะสามารถล้มรัฐบาลของมาดูโรได้ นอกจากสหรัฐฯ แล้ว หลายประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส และ 12 ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา (Lima Group) ก็ไม่ยอมรับว่า มาดูโร เป็นประธานาธิบดีโดยชอบธรรม เพราะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 นั้นไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการเลือกตั้งไม่โปร่งใส และฝ่ายค้านไม่ได้เข้าร่วมในการเลือกตั้ง

eic1

อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรครั้งก่อนๆ นั้น เป็นการเจาะจงที่สมาชิกในรัฐบาลของมาดูโรหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดหรือกลุ่มก่อการร้าย แต่การคว่ำบาตรครั้งนี้ถือเป็นการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุด เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นรายได้หลักของประเทศ และสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในคู่ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา ทั้งในด้านส่งออกน้ำมันดิบชนิดหนักไปสหรัฐฯ และการนำเข้าน้ำมันดิบชนิดเบา และ naphtha จากสหรัฐฯ มาผสมกับน้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศเพื่อนำไปใช้ในโรงกลั่นและส่งออก อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันยังสามารถซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลาได้จนถึงวันที่ 28 เมษายน 2019 หากบริษัทชำระเงินค่าน้ำมันดิบให้แก่บัญชีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งไว้ เพื่อกันไม่ให้รายได้จากการค้าน้ำมันดิบเข้าคลังของรัฐบาลมาดูโร

เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันได้มากเท่าไหร่?
จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ณ สิ้นปี 2018 เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบได้ราว 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 1% ของการผลิตทั่วโลก ลดลงกว่า 50% เทียบกับปริมาณการผลิตที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 สาเหตุของการผลิตที่ลดลงนั้น เกิดจากปัจจัยทางการบริหารของรัฐบาลตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี อูโก ชาเวซ ที่นำรายได้มาใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนนโยบายสังคมนิยม สร้างหนี้สาธารณะ ละเลยการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน รวมถึงไล่พนักงานของ PdVSA ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลออก และจ้างทหารและบุคคลที่สนับสนุนรัฐบาลแต่ไม่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาบริหารบริษัท การจัดการที่ผิดพลาดมานานหลายปีทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศถดถอยลงพร้อมๆ กับการผลิตที่อยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 50 ปี

SCB-EIC(4)

การคว่ำบาตรครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกอย่างไรบ้าง?
ในปี 2018 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงราว 3.6 แสนบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดและวิกฤติเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า การผลิตในเวเนซุเอลาจะลดลงอีก จากการคว่ำบาตรและความไม่สงบในประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หากเทียบกับการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านเมื่อครึ่งหลังของปี 2018 ที่ส่งผลให้การผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน การคว่ำบาตรเวเนซุเอลาครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกมากนัก เนื่องจากปริมาณการผลิตของเวเนซุเอลาน้อยกว่าอิหร่านกว่าครึ่ง (การผลิตของอิหร่านอยู่ที่ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนธันวาคม 2018) และราคาน้ำมันโลกก็ไม่ได้ดีดตัวสูงขึ้นเหมือนช่วงหลังที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน

ถึงแม้ว่าอุปทานน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาคิดเป็นส่วนน้อยของโลก ตลาดยังมีความกังวลว่าอุปทานน้ำมันในตลาดจะมีภาวะตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากกลุ่ม OPEC และพันธมิตรตกลงร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันดิบโลกยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบ ในประเทศลิเบียและไนจีเรียที่อาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง นอกจากนี้ การยกเว้นให้ 8 ประเทศ สามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านได้ จะหมดอายุช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ หากสหรัฐฯ ไม่ต่ออายุ จะทำให้อุปทานหายไปจากตลาด 5 แสน ถึง 1 ล้าน บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบโลกมีภาวะตึงตัวมากขึ้น ในส่วนของเวเนซุเอลาเอง หากมาดูโรยอมลงจากตำแหน่งอาจจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้เร็ว ในทางกลับกันหากความขัดแย้งในเวเนซุเอลายืดเยื้อ สหรัฐฯ อาจเปลี่ยนแปลงมาตรการคว่ำบาตรให้เข้มขึ้นได้ เช่น การขยายการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมผู้ที่ทำธุรกรรมกับ PdVSA ให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินของสหรัฐฯ ได้อย่างในกรณีของอิหร่าน

eic

อีไอซีมองว่า ในระยะสั้นการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของผู้ผลิตในตะวันออกกลาง และการลดลงของอุปทานจากเวเนซุเอลาซึ่งเป็นน้ำมันดิบประเภท heavy crude จะส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบชนิดเบาและชนิดหนัก (light-heavy crude spread) ลดลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งเป็น benchmark ของน้ำมันดิบชนิดหนักเพิ่มสูงขึ้นราว 3.6% ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2019 ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent ซึ่งเป็น benchmark ของน้ำมันดิบเบาเพิ่มขึ้นราว 2.7% หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเวเนซุเอลา ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนของโรงกลั่นสูงขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นในไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศแถบตะวันออกกลางกว่า 51% (ข้อมูลปี 2017) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบชนิดหนัก ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป การกำหนดราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศนั้น กำหนดจาก import parity ของราคาสิงคโปร์ที่ถูกอ้างอิงจากน้ำมันดิบดูไบ ดังนั้นหากมองจากด้านอุปทานแล้ว การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อเวเนซุเอลาก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศได้

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503