เปิดข้อกฎหมาย-ขั้นตอนดำเนินคดียุบพรรค ทษช.

09 ก.พ. 2562 | 09:56 น.
ภายหลังมีพระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม  136 ตอนพิเศษ 37 ง  เมื่อดึกของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ความตอนหนึ่งว่า "การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง"นั้น

กลายเป็นคำถามคำโตว่าใครต้องรับผิดชอบ กรณีการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ

โดยที่เมื่อเช้าตรู่วันเดียวกัน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) พร้อมแกนนำพรรค ได้เข้ายื่นบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคจะสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ท่ามกลางความสนใจของกองทัพสื่อมวลชน ที่มาเกาะติดความเคลื่อนไหว จากกระแสข่าวซุบซิบกันกระหึ่มก่อนหน้าว่า ชื่อที่ยื่นนั้นจะเป็นแผ่นดินไหวทางการเมือง จากนั้นได้เปิดแถลงต่อสื่อมวลชน ว่า

"คณะกรรมการบริหารพรรคได้ประชุมกัน และมีมติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ ของพรรค ซึ่งกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องต้องกัน..."

ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระทั่งพรรค ทษช.ออกแถลงการย้ำอีกครั้งในช่วงบ่าย ยืนยันได้ตรวจสอบแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการ โดยทูลกระหม่อมฯ ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชนแล้วตั้งแต่ปี 2515

ทั้งนี้ พระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว ชี้ชัดว่า แม้จะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังทรงสถานะสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์ ที่อยู่เหนือการเมือง


ทษช.

เมื่อพลิกไปดูระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ในหมวด 4 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ในข้อ 17 ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

เรียกได้ว่าทั้ง "มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" แล้ว ยังผิดกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.ซ้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะปล่อยผ่านไม่ได้

น่าสนใจว่า คณะกรรมการบริหารพรรค ทษช.มีใครกันบ้าง?

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2561 มีการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรักษาชาติ ครั้งที่ 1/2561 ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ วาระสำคัญในการประชุมครั้งนั้นคือ การเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงภาพเครื่องหมายพรรค และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค

ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค นายฤภพ ชินวัตร เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร  รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2 นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3 นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4

นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค นายต้น ณ ระนอง  รองเลขาธิการพรรคคนที่ 1 นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรคคนที่ 2  นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคคนที่ 3 นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ  และ นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค

โดยมี นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ เป็นฆษกพรรค  นางสาวขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรค

นอกจากนี้ในส่วนของพรรคทษช.นั้น แหล่งข่าวจาก กกต.แจ้งว่า กกต.จะเร่งพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน หลังจากมีพระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ดังกล่าว  ซึ่งความในช่วงท้ายยังระบุว่า “ดังนั้น พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ทั้งนี้ กกต.จะพิจารณาจากระเบียบกกต.ว่าด้วยการหาเสียงฯ ข้อ 17  ที่ระบุว่า “ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง” ประกอบมาตรา 90(2) ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่บัญญัติถึงการให้พรรคการเมืองสิ้นสุดลง

เมื่อกกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองนั้นกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กกต.ก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อสั่งยุบพรรคต่อไป

+ รายงานพิเศษออนไลน์ โดย...ทีมข่าวการเมือง ฐานเศรษฐกิจ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว