ยอดสมัครชิง ส.ส.เขต 11,128 คน จาก 80 พรรค เสนอนายกฯ 52 ชื่อ

08 ก.พ. 2562 | 13:59 น.
กกต. ขอทุกพรรคอดใจรอ 15 ก.พ. ประกาศรับรองแคนดิเดตนายกฯ ก่อนขึ้นใช้รูปขึ้นป้ายหาเสียง ส่วนคำร้อง 'ไพบูลย์' เป็นประเด็นนำสถาบันมาใช้หาเสียง ไม่ได้ร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ สรุปยอดสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 11,128 คน จาก 80 พรรค ปาร์ตี้ลิสต์ 72 พรรค 2,718 คน เสนอนายกฯ 52 ชื่อ

การเปิดรับสมัคร ส.ส. ทั้งแบบเขต แบบบัญชีรายชื่อ และบุคคลที่แต่ละพรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปิดฉากไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงเมื่อเวลา 17.00 น. ว่า ภาพรวมการรับสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขต (ข้อมูล ณ เวลา 17.00 น. วันที่ 8 ก.พ.) พบว่า ยอดสมัคร 5 วัน มีจำนวน 11,128  คน เป็นผู้สมัครจากพรรคการเมือง 80 พรรค และมีพรรคการเมืองยื่นสมัครแบบบัญชีรายชื่อรวม 5 วัน เป็นการสมัครจาก 72 พรรคการเมือง จำนวน 2,718 คน

ในส่วนของการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เฉพาะวันที่ 8 ก.พ. มีพรรคการเมืองยื่นเสนอ 7 พรรค จำนวน 9 รายชื่อ ยอดรวม 5 วัน มีทั้งสิ้น 33 พรรค จำนวน 52 รายชื่อ โดยในวันที่ 15 ก.พ. กกต. จะประกาศรายชื่อ แจ้งเป็นผู้มีสิทธิสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต. ยังได้พิจารณากรณีร้องให้ลบ หรือ แก้ไขการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีมติให้ลบเปลี่ยนแปลง แก้ไข การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นการใส่ร้ายตามที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ร้องเรียน และหลังจากนี้พิจารณาตั้งคณะกรรมการไต่สวนว่าเรื่องดังกล่าว เกี่ยวข้องกับผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือ ผู้ใด หากพบว่า มีความผิดของบุคคลทั่วไป กกต. จะดำเนินคดีอาญา แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับผู้สมัครจะพิจารณาตัดสิทธิสมัคร หากเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองอาจมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค


บาร์ไลน์ฐาน

อย่างไรก็ตาม อยากเตือนไปถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง ขอให้ระมัดระวังการหาเสียงที่จะเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสี เพราะอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดมีโทษสูงทั้งจำทั้งปรับ

ด้าน นายณัฐฏ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.เขตเป็นอำนาจของ ผอ.กกต.เขต ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กฎหมายก็เขียนชัดว่าเป็นอำนาจของ กกต.

แต่สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ กกต. ยังเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ว่า กกต. มีอำนาจพิจารณาหรือไม่ หรือมีอำนาจเพียงประกาศรายชื่อตามที่พรรคเสนอมา แต่เบื้องต้น เท่าที่อ่านกฎหมาย น่าจะมีอำนาจแค่ประกาศ แต่ทั้งนี้ ทางสำนักงาน กกต. กำลังศึกษาข้อกฎหมายทั้งหมด และจะเสนอต่อที่ประชุม กกต. พิจารณาในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม หาก กกต. เห็นว่า กฎหมายให้อำนาจ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติได้ ก็จะนำคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. มาเป็นหลักในการพิจารณาร่วมกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี รวมถึงจะไปดูว่ามีคำร้องว่าขอให้ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อรายใดหรือไม่

โดยจะต้องดูเบื้องต้นก่อน ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ก่อน ซึ่งปัจจุบันที่มีการยื่นคำร้องปรากฏทางสื่อเป็นการร้องเรื่องการนำสถาบันฯ มาใช้หาเสียง ไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ทั้งนี้ เมื่อ กกต. ประกาศรายชื่อของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ แล้ว ผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ต่างจากผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.

ขณะที่ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) สามารถนำรูปแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคขึ้นป้ายหาเสียงได้เลยหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ข้อ 17 กำหนดไว้ว่า ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น กกต. คงต้องพิจารณาก่อน

"ถ้าจะให้ดีทุกพรรคควรรอการประกาศรับรองจาก กกต. ในวันที่ 15 ก.พ. ก่อน" นายณัฐฏ์  ระบุ

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ปฎิเสธที่จะอธิบายรายละเอียด ว่า พรรค ทษช. จะมีขอบเขตในการนำแคนดิเดตนายกฯ ไปใช้หาเสียงได้อย่างไร โดยอ้างว่า ทุกพรรคทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรทำได้ ไม่ได้แค่ไหน ในช่วงของการเลือกตั้ง

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก